กองทัพอากาศ รับมอบนวัตกรรมห้อง ICU ความดันลบเคลื่อนที่ จาก วช. เพื่อนำใช้ในโรงพยาบาลสังกัดกองทัพอากาศ
วันที่ 3 กันยายน 2564 กองทัพอากาศ รับมอบนวัตกรรมห้อง ICU ความดันลบเคลื่อนที่ พร้อมอุปกรณ์ป้องกันสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำมามอบให้โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาลสังกัดกองทัพอากาศ
พลอากาศเอก แอร์บูล สุทธิวรรณ ผู้บัญชาการทหารอากาศ รับมอบนวัตกรรมห้อง ICU ความดันลบเคลื่อนที่ พร้อมอุปกรณ์ป้องกันสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ จาก ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ โดยมี พลอากาศโท ฐานัตถ์ จันทร์อำไพ เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารอากาศ ให้การต้อนรับ ณ ห้องรับรองพิเศษ 1 กองบัญชาการกองทัพอากาศ กรุงเทพมหานคร
พลอากาศเอก แอร์บูล สุทธิวรรณ ผู้บัญชาการทหารอากาศ กล่าวว่า นวัตกรรมห้อง ICU ความดันลบเคลื่อนที่ ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในสถานการณ์ในปัจจุบัน กองทัพอากาศ โดยศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพอากาศ มีภารกิจในการเตรียมการป้องกัน และบรรเทาความเดือนร้อนจากสาธารณภัย ซึ่งใช้ทรัพยากรของกองทัพอากาศที่มีอยู่ และของที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งในวันนี้ วช. ได้นำนวัตกรรมห้อง ICU ความดันลบเคลื่อนที่ พร้อมอุปกรณ์ป้องกันสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ มามอบให้กองทัพอากาศเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในโรงพยาบาลสังกัดกองทัพอากาศ ในการต่อสู้กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 ต่อไป
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. เป็นหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมหลักของประเทศ มีเป้าหมายในการนำผลสำเร็จจากงานและนวัตกรรมมาแก้ปัญหาเร่งด่วน และเป็นเรื่องวิกฤตของประเทศ และ วช. ยังได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา หรือ ศปก. วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในกำลังหลักของศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) ในการร่วมแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ที่ผ่านมา วช. มีการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมตามสถานการณ์ของโรคที่เปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่ระยะแรกของการระบาดจนถึงปัจจุบัน วช. ได้สนับสนุนการวิจัยที่สามารถได้ชุดข้อมูลลักษณะพันธุกรรมของเชื้อไวรัส การเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม ชุดตรวจวินิจฉัยที่รวดเร็วแม่นยำ การพัฒนายาและวัคซีน อุปกรณ์ และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้ทดแทนทางการแพทย์ อาทิ หน้ากาก N95 ชุดหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะพร้อมชุดกรองอากาศประสิทธิภาพสูง (หรือ PAPR) การวิจัยเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา ของประเทศ ในวันนี้ วช. ได้ประสานกับกองทัพอากาศโดยโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ เพื่อนำนวัตกรรมห้อง ICU ความดันลบเคลื่อนที่มาใช้ประโยชน์ในภารกิจของบุคลากรทางการแพทย์ของกองทัพอากาศเพื่อดูแลผู้ป่วย
นวัตกรรมห้อง ICU ความดันลบเคลื่อนที่ เป็นนวัตกรรมที่ วช. ให้การสนับสนุนทุนวิจัยในด้านสาธารณสุข แก่สมาคมวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย มีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพล ฤกษ์เกษมสันติ์ อาจารย์ภาควิศวกรรมเคมี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ในการพัฒนานวัตกรรมห้อง ICU ความดันลบที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ นวัตกรรมดังกล่าวนำมาใช้กับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการหนัก ซึ่งห้องทำจากวัสดุแข็งแรงทนทาน มีระบบควบคุมแรงดันอากาศอัตโนมัติ ระบบดูดอากาศและเครื่องกรองอากาศฆ่าเชื้อโรคที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อกรองเชื้อไวรัส ที่ใช้หลักในการออกแบบตามมาตรฐานของศูนย์ควบคุมและป้องกันเชื้อโรคของ Center of Disease Control and Prevention หรือ CDC สหรัฐอเมริกา และหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ห้อง ICU ความดันลบเคลื่อนที่ ยังสามารถนำไปใช้งานร่วมกับผู้ป่วยโรคติดต่อทางเดินหายใจอื่น ๆ ได้ในอนาคต
การส่งมอบห้อง ICU ความดันลบเคลื่อนที่ให้โรงพยาบาลในสังกัดกองทัพอากาศ ในครั้งนี้ วช. ยังได้นำนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยมามอบให้เพื่อใช้ประโยชน์เพิ่มเติมด้วย ได้แก่ ชุดหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะ ชุดกรองอากาศประสิทธิภาพสูง (PAPR) พัฒนาโดยทีมวิจัยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย จำนวน 10 ชุด, หน้ากาก N-Breez พัฒนาโดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จำนวน 10,000 ชิ้น, และหน้ากากอนามัยชนิด KN95 พัฒนาโดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) จำนวน 1,000 ชุด มามอบให้โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช เพื่อนำไปใช้รับมือสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 วช. หวังว่าการมอบนวัตกรรมในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อกองทัพอากาศในการสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ต่อไป
###