นักวิจัย ม.รังสิต เจ๋ง! คิดค้นระบบคัดกรองโรคปอดอักเสบโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) คว้ารางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ปี 64 จาก วช.

   สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : ผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับประกาศเกียรติคุณ ประจำปี 2564 ให้กับระบบประมวลผลอัตโนมัติในการตรวจคัดกรองโรคปอดอักเสบโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI)

   ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. มีนโยบายที่จะส่งเสริมและเชิดชูเกียรตินักวิจัยไทย ซึ่งได้ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติและวงวิชาการเป็นส่วนรวม จึงได้จัดให้มีการประกาศเกียรติคุณนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติในแต่ละสาขา วิชาการ เป็นประจำทุกปีโดยได้ทำการคัดเลือกนักวิจัยที่มีจริยธรรมและมี คุณสมบัติเหมาะสมเป็นที่ยอมรับและยกย่องในวงวิชาการมีผลงานวิจัยสร้างคุณประโยชน์ต่อวงวิชาการและประชาชน สมควรเป็นแบบอย่างแก่นักวิจัยอื่น ในครั้งนี้ วช. ได้มอบรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับประกาศเกียรติคุณ ประจำปี 2564 ให้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.สื่อจิตต์ เพ็ชร์ประสาน รองคณบดีกิตติคุณ แห่งวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต และคณะ เนื่องจากเป็นนักวิจัย ที่สร้างองค์ความรู้ทางการวิจัยที่สำคัญ ในการนำระบบประมวลผลอัตโนมัติในการตรวจคัดกรองโรคปอดอักเสบโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

   รองศาสตราจารย์ ดร.สื่อจิตต์ เพ็ชร์ประสาน รองคณบดีกิตติคุณ แห่งวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า เนื่องจากในปัจจุบันอัตราผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลน ส่งผลต่อความล่าช้าในการรักษาผู้ป่วย จึงเป็นสาเหตุ ที่ทำให้การติดเชื้อโควิด-19 กระจายตัวสู่ผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยรวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานใกล้ชิด
กับผู้ติดเชื้อ ทำให้เกิดการสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นแรงสำคัญในการรักษาผู้ป่วยจากเชื้อโควิด-19 ระบบประมวลผลอัตโนมัติในการตรวจคัดกรองโรคปอดอักเสบโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) สามารถช่วยบรรเทาภาระของแพทย์ โดยระบบประมวลผลจะวิเคราะห์ภาพเอ็กซเรย์ทรวงอกของผู้ป่วยที่สันนิษฐานว่าติดเชื้อ ประกอบกับคำวินิจฉัยของแพทย์ เพื่อคัดกรองและกักกันโรคอย่างรวดเร็วและแม่นยำ จะสามารถทำให้ควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดีขึ้น ส่งผลให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจกลับเข้าสู่สภาวะปกติได้เร็วขึ้น รวมถึงสามารถพัฒนาต่อยอดไปใช้ในการวินิจฉัยโรคจากภาพรังสีวินิจฉัยอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมการแพทย์ไทยในการวินิจฉัย และรักษาสุขภาพของคนไทยอย่างยั่งยืน

   สำหรับระบบประมวลผลอัตโนมัติในการตรวจคัดกรองโรคปอดอักเสบโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นผลงานที่ รองศาสตราจารย์ ดร.สื่อจิตต์ เพ็ชร์ประสาน รองคณบดีกิตติคุณ แห่งวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต และคณะ ได้ใช้โครงสร้างของเครือข่ายประสาทเทียมแบบคอนโวลูชัน (Convolutional neural network : CNN) โดยที่ CNN จะจำลองการมองเห็นของมนุษย์ที่มองพื้นที่เป็นที่ย่อย ๆ และนำกลุ่มของพื้นที่ย่อย ๆ มาผสานกัน ลักษณะการวิเคราะห์ภาพของ CNN มีความละเอียดระดับพิกเซล (Pixel) ทำให้สามารถแยกความแตกต่างของภาพในระดับจุลภาค ส่งผลให้การวิเคราะห์มีความแม่นยำสูงและลดข้อผิดพลาดในการวินิจฉัยได้เป็นอย่างดี

   การประมวลผลอัตโนมัติในการตรวจคัดกรองโรคปอดอักเสบโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ โดยการนำภาพเอ็กซเรย์ทรวงอกของผู้ป่วยโรคปอดอักเสบและภาพเอ็กซเรย์ทรวงอกที่ไม่พบโรค ของผู้ป่วยเพศหญิงและเพศชายวัยผู้ใหญ่ มาเป็นฐานข้อมูล โดยระบบประมวลผลใช้โครงสร้างของเครือข่ายประสาทเทียมแบบคอนโวลูชัน (CNN) ภายใต้โมเดลของเรสเน็ต เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการวิเคราะห์ผล โดยแสดงผลลัพธ์เป็นค่าของเปอร์เซ็นต์การวิเคราะห์ ซึ่งมีความแม่นยำในการตรวจคัดกรองโรคปอดอักเสบสูงถึงร้อยละ 99.66 ปัจจุบัน ระบบประมวลผลอัตโนมัติในการตรวจคัดกรองโรคปอดอักเสบโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) อยู่ในช่วงการทดลองทางการแพทย์เพื่อนำไปใช้จริงในภาคสนามต่อไป

###