วธ. มอบทุนศาสนทายาท 800 ทุน ทั่วประเทศ สนับสนุนการศึกษาแก่ พระภิกษุสามเณร

   วันที่ 20 ตุลาคม 2564 เวลา 13.30 น. นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม(รมว.วธ.) เป็นประธานในพิธีถวายทุนการศึกษาโครงการสนับสนุนศาสนทายาทสืบสานและเผยแผ่พระพุทธศาสนาภายใต้กองทุนส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ณ วัดโมลีโลกยาราม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร

   นายอิทธิพล กล่าวว่าพระภิกษุ สามเณร ถือเป็นบุคลากรที่มีส่วนสำคัญต่อการสืบทอด เผยแผ่ พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า รวมทั้งเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนได้ศึกษาเรียนรู้หลักธรรมทางศาสนาและนำไปปฏิบัติตามกรอบศีลธรรมอันดีงาม กระทรวงวัฒนธรรมโดยกรมการศาสนา ในฐานะผู้กำกับดูแลกองทุนส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ได้สนับสนุนการเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยส่งเสริมการศึกษาแก่พระภิกษุ สามเณร ให้มีโอกาสศึกษาพุทธธรรมในระดับที่สูงขึ้นภายใต้โครงการสนับสนุนศาสนทายาทสืบสานและเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพื่อส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและสร้างศาสนทายาทในการทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาที่มีคุณภาพมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๖จนถึงปัจจุบัน

   นายอิทธิพล กล่าวต่อว่า ด้วยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑๐ทรงมีพระราชศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนา และทรงสนพระทัยศึกษาธรรมะโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพระไตรปิฎก ได้มีพระราชปุจฉาเผดียงถามสมเด็จพระสังฆราชและพระเถรานุเถระว่า “จะส่งเสริมการเรียนการสอนพระบาลีอย่างไรให้เข้าถึงพระไตรปิฎก” เพื่อเป็นการจรรโลงบวรพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่อย่างมั่งคง รวมทั้งรับสนองพระราชปุจฉาของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔ กรมการศาสนา จึงได้ร่วมกับสำนักแม่กองบาลีสนามหลวง และวัดโมลีโลกยาราม จัดถวาย “ทุนการศึกษาสำหรับพระภิกษุสามเณร”แก่พระภิกษุหรือสามเณรที่สอบบาลีสนามหลวงได้ ในปีการศึกษา ๒๕๖๔ ตั้งแต่เปรียญธรรม ๓ ประโยค – เปรียญธรรม ๘ ประโยคในสำนักเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี โดยในส่วนกลาง จัดพิธีถวายทุนการศึกษา ณ วัดโมลีโลกยาราม จำนวน3๐0 ทุนๆละ 5,000 บาทส่วนภูมิภาค 68 จังหวัด ดำเนินการตามบริบทของแต่ละพื้นที่ จำนวน 500 ทุนๆละ ๕,๐๐๐ บาท เพื่อสนับสนุนการศึกษาแก่พระภิกษุสามเณร ให้เป็นผู้มีความรอบรู้และแตกฉานในพระธรรมวินัยทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติจนสามารถเข้าถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาได้ด้วยตนเอง สามารถนำไปปฏิบัติอย่างถูกต้อง และนำหลักธรรมคำสอนทางศาสนาไปอบรมสั่งสอนแก่พุทธศาสนิกชนได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน จะช่วยให้พุทธศาสนิกชนเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในศาสนทายาท และนำหลักธรรม คำสอนทางศาสนาไปเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งในการเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่สถาบันศาสนาให้ดำรงอยู่คู่สังคมไทยอย่างยั่งยืน.

###