วช. จัดเวทีเสวนาเปิดให้บริการฐานข้อมูล Big Data ในวาระครบรอบ 62 ปี
เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดเสวนาความสำคัญของระบบข้อมูลสารสนเทศ ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ และการเปิดให้บริการข้อมูลจากฐานข้อมูลกลางด้าน ววน.ของประเทศ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ครบรอบ 62 ปี โดยมี ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ ผศ.ดร.สุภาภรณ์ เกียรติสิน หัวหน้าโครงการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดลให้เกียรติร่วมเสวนา
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา วช.ได้มีบทบาทในการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการวิจัยของประเทศจนต่อยอดงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ และเมื่อมีการจัดตั้งกระทรวง อว. ขึ้น ทำให้ภารกิจของ วช.ในฐานะหน่วยงานหลักในการให้ทุนวิจัยต้องสร้างระบบข้อมูลสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติให้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการทุนในรูปแบบออนไลน์ ใช้งานง่าย ได้มาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้น การจัดการระบบสารสนเทศเพื่อใช้งานแบบออนไลน์ จึงมีความสำคัญในยุคดิจิทัล วช.ได้ริเริ่มจัดการระบบฯ มาตั้งแต่ พ.ศ.2549 นำโดย ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เพื่อใช้เป็นกลไกการบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ ในลักษณะมี Big Data ของประเทศ เพื่อให้ข้อมูลที่กระจัดกระจายมารวมกัน ซึ่งปัจจุบันระบบมีประสิทธิภาพสูง เห็นภาพของการวิจัยตั้งแต่ต้นจนสิ้นสุดโครงการ
ด้าน ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธาน ววน. กล่าวว่า การมี Big Data ของประเทศในงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะช่วยลดความซ้ำซ้อน เกิดกลไกที่เป็นระบบมากขึ้น และเกิดการจัดทำแผนงบประมาณและบูรณาการการวิจัยของประเทศเป็นครั้งแรก ซึ่งปัจจุบันมีความสมบูรณ์แล้ว ร้อยละ 90 และคาดว่าจะสมบูรณ์มากขึ้น ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้ใช้งานสามารถใช้งานได้ในส่วนกลาง และสามารถเข้าถึงง่าย ทันสมัย มีมาตรฐานเชื่อถือได้ และสามารถเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีผลงานวิจัยได้ดี เมื่อมีการจัดทำฐานข้อมูลจะช่วยให้ผู้ใช้งานได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันมากที่สุด
ขณะที่ ผศ.ดร.สุภาภรณ์ เกียรติสิน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ข้อมูลสารสนเทศทางการวิจัย เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนประเทศที่ดีที่สุด ขณะนี้การจัดทำข้อมูล Big Data วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ วช.ดำเนินการ ยังต้องการงานวิจัยจากหน่วยงานต่าง ๆ มารวมกันเป็น Big Data จึงจะตอบได้อย่างชัดเจนว่า งบวิจัยของประเทศต่อ GDP มีมากน้อยแค่ไหน ขณะนี้เรามีนักวิจัย ประมาณ 140,000 คน และมีงานวิจัยอีกจำนวนมาก แต่ถ้าไม่มีการนำมารวมไว้ในที่เดียว ก็จะมองไม่เห็นภาพรวมทั้งหมด แต่เชื่อว่าถ้าทำข้อมูลนี้เสร็จสมบูรณ์ จะสามารถระบุได้ว่าประเทศไทยใช้งบวิจัยต่อ GDP เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่ ที่ผ่านมาได้พยายามพัฒนาระบบนี้ให้สมบูรณ์ตามที่ ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ได้ริเริ่มไว้
การเสวนาในครั้งนี้ จะชี้ให้ทุกภาคส่วน อาทิ ภาคประชาคมวิจัย ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เห็นความสำคัญของระบบข้อมูลสารสนเทศ ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พร้อมการให้บริการสืบค้นข้อมูลและใช้ประโยชน์ ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าการวิจัยของประเทศ และทำให้ประชาชนเห็นว่า การลงทุนกับงานวิจัยมีความคุ้มค่าต่อการพัฒนาประเทศ
###