สมาคมการค้าปุ๋ยฯ (TFAS) แจง “โครงการลดต้นทุนช่วยเหลือเกษตร ของ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์และสถานการณ์ราคา และตลาดปุ๋ยเคมี 2564“

   นายกองเอก เปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย และคณะกรรมการ ได้แถลงข่าว “โครงการลดต้นทุนช่วยเหลือเกษตร ของ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์และสถานการณ์ราคาและตลาดปุ๋ยเคมี 2564“

   สถานการณ์ราคาปัจจัยการผลิตปุ๋ยเคมี จากต้นปี พ.ศ. 2563 จนถึงปัจจุบัน ปุ๋ยเคมีมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและคาดการณ์ว่าจะสูงขึ้นไปจนถึงไตรมาสแรกของปี พ.ศ. 2565 ทั้งนี้เพราะ สภาพอากาศทั่วโลกส่วนใหญ่ที่เอื้ออำนวยต่อการทำการเกษตร ราคาผลผลิตทางการเกษตรในตลาดโลกมีแนวโน้ม สูงขึ้น หลายๆ ประเทศตระหนักถึงความมั่นคงทางด้านอาหาร นโยบายการชะลอการส่งออกวัตถุดิบปุ๋ยเคมีของประเทศจีน วิกฤตราคาพลังงานน้ำมัน ค่าขนส่งทางเรือระหว่างประเทศมีราคาสูงและความผันผวนของค่าเงินในตลาดโลก ซึ่งปัจจัยดังกล่าวล้วนเกิดจากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา หรือ Covid-19

   ปัจจุบันราคาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตปุ๋ยเคมีปรับตัวสูงขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยยูเรีย (UREA) แอมโมเนียมซัลเฟต (AS) ไดแอมโมเนียมซัลเฟต (DAP) และ โพแทสเซียมคอไรด์ (MOP) ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกร ทั้งนี้เพราะประเทศไทยต้องนำเข้าวัตถุดิบปุ๋ยเคมีมาจากต่างประเทศเกือบ100 เปอร์เซนต์

   ในส่วนของแนวทางสนับสนุนโครงการลดต้นทุนช่วยเหลือเกษตรกร ของ กระทรวงพาณิชย์ ผ่านกรมการค้าภายใน ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผ่านกรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมส่งเสริมการเกษตร โดยสมาชิกของสมาคมฯ ได้ให้การช่วยเหลือลดราคาจำหน่ายแม่ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยเคมีสำเร็จรูป รวมทั้งสิ้น 201,106 ตัน หรือ 4,022,120 กระสอบ โครงการเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-ตุลาคม และจะขยายเวลาต่อจนถึงสิ้นปีพ.ศ. 2564

   การช่วยเหลือเกษตรกรในการลดราคาปุ๋ยเคมีในครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่ง ที่ทางสมาคมฯ ร่วมกับภาครัฐบาลในการช่วยเหลือเกษตรกร อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ เห็นว่า ภาครัฐควรมีแผนระยะยาวในการช่วยเหลือเกษตรกร คือ การให้ความรู้ที่ถูกต้องกับเกษตรกรเกี่ยวกับการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างถูกวิธี การใช้ปุ๋ยเคมีให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรโดยการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร(Crop Productivity) จึงจะสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมการทำการเกษตรแบบ “การเกษตรปลอดภัย” GAP (Good Agricultural Practice) คือ การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี และเหมาะสมสำหรับพืช เพราะเป็นมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และจะทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงในการเพาะปลูกพืชอาหารและพืชเศรษฐกิจ

###