“เฉลิมชัย” ขับเคลื่อนนโยบาย ”เกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง” เพิ่มพื้นที่สีเขียวในวัด โรงเรียน ชุมชน
“เฉลิมชัย” ขับเคลื่อนนโยบาย ”เกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง” เพิ่มพื้นที่สีเขียวในวัด โรงเรียน ชุมชน สนับสนุนการปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ผล ไม้ยืนต้น เน้นการใช้อินทรียวัตถุ เพื่อให้เด็กนักเรียนและคนในชุมชนได้บริโภคอาหารปลอดภัย และมีรายได้จากการนำผลผลิตไปจำหน่าย รวมทั้งสร้างระบบนิเวศที่ดี และเป็นศูนย์เรียนรู้ตัวอย่างให้แก่วัดและชุมชนอื่น ๆ
วันนี้(30 มีนาคม) ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองในพื้นที่วัด(Green Temple) ณ ธรรมสถานวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก กรุงเทพมหานคร ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีแนวทางในการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง โดยให้มีการจัดสรรและใช้ทรัพยากรในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีความตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นที่ต้องส่งเสริม สนับสนุน ให้ประชาชนในชุมชนเมืองได้เรียนรู้การทำเกษตรปลอดภัย ตามวิถีพอเพียง และคนในชุมชนมีอาหารบริโภคผลผลิตปลอดภัยและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งระบบเกษตรกรรมยั่งยืนคือระบบการเกษตรที่ครอบคลุมถึงวิถีชีวิตเกษตรกร กระบวนการผลิต และการจัดการทุกรูปแบบ เพื่อให้เกิดความสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ ซึ่งนำไปสู่การพึ่งตนเองและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและผู้บริโภค
สำหรับโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองในพื้นที่วัด (Green Temple) เป็นหนึ่งในโครงการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในชุมชนเมืองโดยเฉพาะพื้นที่วัดในกรุงเทพมหานคร มีวัตถุประสงค์เพื่อน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้กับคนในชุมชนเมือง เพื่อส่งเสริมให้คนในชุมชนเมืองใกล้วัดเข้าถึงอาหารปลอดภัยรวมถึงเป็นรายได้ให้แก่ชุมชน เพิ่มพื้นที่สีเขียวในวัด โรงเรียน ชุมชน และเป็นศูนย์เรียนรู้ให้แก่วัดและโรงเรียน รวมทั้งเพิ่มพื้นที่และกิจกรรมทางสังคมของชุมชนในการใช้พื้นที่สาธารณะทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ปลูกผักสวนครัว ไม้ผล ไม้ยืนต้น สมุนไพร การลงแขกช่วยงานในแปลง เป็นต้น ซึ่งมีพื้นที่นำร่องในการดำเนินการในพื้นที่ทั้งสิ้น 9 แห่ง ได้แก่ วัดพระยาสุเรนทร์ เขตคลองสามวา วัดบางกระดี่ เขตบางขุนเทียน วัดพระราม 9 เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร วัดนายโรง เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร วัดโซนเหนือกรุงเทพฯ วัดโซนตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงเทพฯ มัสยิดคอยรุดดีน ศาสนสถานของฮินดู และโบสถ์ และมีเป้าหมายในการดำเนินการในพื้นที่ทั่วประเทศต่อไป
“การพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองในพื้นที่วัดเพื่อผลิตอาหารเพียงพอปลอดภัยให้กับชุมชนในเมืองใกล้วัดและโรงเรียน เพื่อสร้างเป็นอาหาร เป็นยารักษาโรค และสร้างรายได้ รวมถึงเพิ่มพื้นที่สีเขียวสอดคล้องกับ BCG โมเดล ประกอบด้วย 3 เศรษฐกิจหลัก คือ 1.Bio Economy เศรษฐกิจชีวภาพ 2.Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน การมุ่งสร้างมูลค่าสูงสุดจากทรัพยากรธรรมชาติควบคู่ไปกับการลดของเสีย เช่น การทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักจากเศษอาหาร เป็นต้น และ 3.Green Economy เศรษฐกิจสีเขียวหรือเศรษฐกิจที่พัฒนาด้วยความคำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ซึ่งการดำเนินงานปรับปรุงพื้นที่ในโรงเรียนและวัด จะช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวในรูปแบบการปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ผล ไม้ยืนต้น เน้นการใช้อินทรียวัตถุ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด และปุ๋ยชีวภาพ ในการปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อให้ต้นพืชมีความแข็งแรงสามารถต้านทานโรคและแมลงด้วยตนเอง รวมถึงการนำเอาภูมิปัญญาชาวบ้านมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อให้คนในชุมชนสามารถบริโภคผลผลิตพืชผัก ผลไม้ที่ปลอดภัย อีกทั้งยังไม่ทำลายสภาพแวดล้อม โดยใช้พื้นที่ว่างเปล่าในวัดทำแปลงเกษตรเพื่อให้มีอาหารปลอดภัยให้เด็กนักเรียนและคนในชุมชนได้บริโภค และมีรายได้จากการนำผลผลิตไปจำหน่ายในตลาดชุมชน รวมทั้งสร้างระบบนิเวศที่ดีให้กับวัดและชุมชน รวมถึงให้เป็นศูนย์เรียนรู้แก่ชุมชนและตัวอย่างให้แก่วัดและชุมชนอื่น ๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมจะให้การสนับสนุนการดำเนินงาน และพร้อมเข้ามาดูแลพี่น้องประชาชนอย่างใกล้ชิด” ดร.เฉลิมชัย กล่าว
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง (Sustainable Urban Agriculture Development Project : SUAD Project) กล่าวว่า โครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาภาวะความไม่มั่นคงทางอาหารในเมือง เนื่องจากในปี2562 ประเทศไทยมีประชากรในเมืองมากกว่าในชนบทเป็นครั้งแรกสะท้อนถึงการขยายตัวของเมือง(Urbanization)และชุมชนเมืองมีการผลิตอาหารได้เองไม่ถึง10% เป็นเหตุผลสำคัญที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในยุคปัจจุบันต้องเร่งขับเคลื่อนพัฒนาการเกษตรในเมือง(Urban Agriculture )โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด-19 และยุคต่อไป(Next normal)ที่ต้องให้ความสำคัญระบบนิเวศน์เมืองเรื่องสุขภาพคนและคุณภาพเมือง จึงต้องขับเคลื่อนเกษตรในเมืองควบคู่กับเกษตรในชนบท
นายอลงกรณ์กล่าวเพิ่มเติมว่า “โครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง เป็นความร่วมภาคีเครือข่ายต่างๆ มีวัตถุประสงค์ 6 ประการ ได้แก่ 1.การพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง 2.การเพิ่มพื้นที่สีเขียว 3.การลด ปัญหา PM 2.5 และลดก๊าซเรือนกระจก(Green House Gas) 4.การเพิ่มคุณภาพอากาศ 5. การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และ 6.การสร้างเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ ในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ(Climate Change) ของโลก นอกจากนี้คณะอนุกรรมการระดับเขตและจังหวัดยังรับผิดชอบการขับเคลื่อนโครงการธนาคารสีเขียว (Green Bank)”
###