วช. ยกย่องนักวิจัยจุฬา จากแนวคิด “Universal Design วิถีชีวิตที่ออกแบบได้” เป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาปรัชญา ประจำปี 2565
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดตัว“นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาปรัชญา ประจำปี 2565” รองศาสตราจารย์ไตรรัตน์ จารุทัศน์ หัวหน้าภาค วิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในงาน “NRCT Talk: นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2565” ณ ศูนย์จัดการความรู้การวิจัย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
วันนี้ (วันที่ 30 มีนาคม 2565) ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. มีภารกิจที่สำคัญในการให้รางวัลประกาศเกียรติคุณหรือยกย่องบุคคลหรือหน่วยงานด้านการวิจัยและนวัตกรรม โดยเป็นผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการส่วนรวม ซึ่งในปีนี้ วช. ได้มอบรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติสาขาปรัชญา ประจำปี 2565 ให้แก่ รองศาสตราจารย์ไตรรัตน์ จารุทัศน์ หัวหน้าภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนักวิจัยที่มีความคิดริเริ่ม และอุทิศตนเพื่องานวิจัยอย่างต่อเนื่อง 1 ในฟันเฟืองที่สำคัญคือ นักวิจัย ที่ร่วมมือกันในการขับเคลื่อนยกระดับงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อทำให้เกิดผลงานที่มี Impact สูงทางสังคมและเศรษฐกิจ สร้างองค์ความรู้พื้นฐานทางวิชาการ ตอบโจทย์ท้าทายสำคัญทางสังคมซึ่งรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ เป็นเวทีให้นักวิจัยได้นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมผ่านสื่อมวลชน ตลอดจนการผลิตและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัย ผลงานประดิษฐ์คิดค้น กิจกรรม ภารกิจ และผลการดำเนินงาน ของ วช. เป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลงานและกิจกรรมของ วช. ไปสู่ชุมชนและสาธารณชนให้ได้ทราบและนำไปสู่การใช้ประโยชน์ต่อสังคมของประเทศชาติต่อไป
รองศาสตราจารย์ไตรรัตน์ จารุทัศน์ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจในการทำงานวิจัย โดยตั้งคำถามว่า “สภาพแวดล้อมของผู้สูงอายุเป็นแบบไหน” นำไปสู่หลักขององค์ความรู้ด้าน “Universal Design”การออกแบบสภาพแวดล้อม และสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อทุกคนทุก ๆ กลุ่มวัย ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ คนปกติ และผู้พิการ สร้างความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงพื้นที่การให้บริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพกายใจ ภายใต้แนวคิดชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ โดยสามารถแบ่งงานวิจัยออกเป็น 3 กลุ่มคือ งานวิจัยขั้นพื้นฐาน งานวิจัยประยุกต์ และงานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ เกิดการบูรณาการข้ามศาสตร์การใช้องค์ความรู้หลายสาขาวิชามาผสมผสานใช้ในการออกแบบ เป็นการออกแบบเพื่อให้ทุกคนผู้สูงอายุในชุมชนแออัด คนพิการที่ยากจนในพื้นที่ต่าง ๆ ได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมที่พัฒนาและค้นหาวิธีในการแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมสร้างพื้นที่ให้สังคมมีคุณภาพมากยิ่งขึ้นโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
จุดเด่นงานวิจัย “หลักการออกแบบเพื่อทุกคน Universal Design ปรับเปลี่ยนเพื่อความยั่งยืน” คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัยกำลังเป็นประเด็นที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญสภาพแวดล้อมของสังคมไทยที่ไม่เอื้ออำนวยต่อผู้สูงอายุจะทำอย่างไรให้สภาพแวดล้อมของผู้สูงอายุนั้นดีขึ้นก่อให้เกิดข้อค้นพบเชิงนโยบาย “สูงวัยในถิ่นเดิมชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ” นำมาสู่งานออกแบบ สิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ ทุกคนทุก ๆ กลุ่มวัย คนปกติ และผู้พิการ โดยการจัดทำ “คู่มือการปรับบ้านและพื้นที่ส่วนกลางของผู้สูงอายุในเมือง” เช่น การทำราวจับไม้ไผ่ในชุมชน นำไปสู่กระบวนการปรับปรุงที่อยู่อาศัยในเมืองก่อให้เกิดภูมิทัศน์ที่ดี งานออกแบบปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุและคนพิการโดยการทำทางลาดด้วยคอนกรีตเสริมไม้ไผ่ นับเป็นงานต้นแบบการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุและผู้พิการรวมไปถึงทุกคนในสังคมโดยเฉพาะผู้สูงอายุเพื่อให้เข้าถึงและใช้งานได้อย่างปลอดภัยก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมไทยต่อไป
ทั้งนี้ วช. ได้มีการจัดงาน NRCT Talk ขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในครั้งนี้จะเป็นการจัดเรื่องนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2565 เพื่อเป็นเวทีให้นักวิจัยได้นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมผ่านสื่อมวลชนและยังเป็นการเชิดชูนักวิจัยทางสาขาปรัชญาที่มีคุณค่า สร้างแรงจูงใจ และกระตุ้นให้นักวิจัยเกิดการพัฒนาศักยภาพผลงานประดิษฐ์คิดค้นส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยดังกล่าวจะนำไปสู่รูปแบบการพัฒนาการออกแบบ และการก่อสร้างอาคาร สถานที่ตลอดจนสภาพแวดล้อมทางกายภาพและการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้เป็นเมืองสังคมน่าอยู่ ตลอดจนที่อยู่อาศัยชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุและเหมาะสมกับผู้ใช้งานทุกสถานะทุกวัย นำไปสู่ สุขภาพกาย สุขภาพใจที่ดี สานสายใยสังคม ด้วยแนวคิด “Universal Design วิถีชีวิตที่ออกแบบได้”
###