วช. สนับสนุน “เครื่องฆ่าเชื้อโรคในอากาศโดยใช้รังสี UVC แบบติดเพดาน” สาธิตจุฬาฯ รางวัลเวทีนานาชาติ เจนีวา ติดตั้งที่รัฐสภา
จากการที่ วช. ได้นำ “เครื่องฆ่าเชื้อโรคในอากาศโดยใช้รังสี UVC แบบติดเพดาน” ของนักเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม เข้าร่วมประกวดเวทีนานาชาติ จนคว้ารางวัลเหรียญเงิน ปัจจุบันได้นำไปใช้งานจริงที่รัฐสภาแล้ว
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ส่งเสริมและสนับสนุน “เครื่องฆ่าเชื้อโรคในอากาศโดยใช้รังสี UVC แบบติดเพดาน” ของ เด็กชายธนินกิตติ์ ประสิทธิ์ดำรง เด็กชายปรานต์ อุดมแสวงทรัพย์ เด็กหญิงสิรรินทร์ ประสิทธิ์ดำรง เด็กหญิงภาวิดา เทียมชีวะศิลป์ และนายจีระศักดิ์ จิตรโรจนรักษ์ แห่ง โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม เข้าร่วมประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ ในงาน “Inventions Geneva Evaluation Days – Virtual Event” ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ในรูปแบบออนไลน์ ตลอดช่วงเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา จนทำให้เครื่องฆ่าเชื้อโรคในอากาศโดยใช้รังสี UVC แบบติดเพดานเป็นที่รู้จัก สามารถนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดผลงานให้ได้มาตรฐานเกิดการยอมรับในทางการตลาดและก้าวสู่เชิงพาณิชย์ พร้อมใช้งานจริงที่รัฐสภา
นายจีระศักดิ์ จิตรโรจนรักษ์ อาจารย์โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม กล่าวว่า “เครื่องฆ่าเชื้อโรคในอากาศโดยใช้รังสี UVC แบบติดเพดาน” เกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ในประเทศไทยที่ยังน่าเป็นห่วงเนื่องจากติดเชื้อกันได้ง่ายและรวดเร็ว จึงนำปัญหาดังกล่าวมาตั้งเป็นโจทย์ว่า จะต้องอยู่กับเชื้อโควิด-19 อย่างไรให้ปลอดภัย และเริ่มทำเครื่องฆ่าเชื้อโรคในอากาศโดยใช้รังสี UVC แบบติดเพดาน โดยนำไปติดตั้งในพื้นที่อับชื้น อาทิ ห้องเรียน ห้องประชุม ห้องน้ำ
“เครื่องฆ่าเชื้อโรคในอากาศโดยใช้รังสี UVC แบบติดเพดาน” เป็นเครื่องฆ่าเชื้อโรคในอากาศที่มีการติดตั้งแผ่นกรองอากาศและมีการติดตั้งพัดลมดูดอากาศเพื่อทำการดูดอากาศจากภายนอกเข้าสู่ตัวเครื่อง ซึ่งภายในตัวเครื่องมีการติดตั้งหลอดไฟ UVC ที่มีคุณสมบัติในการยับยั้งและทำลายเชื้อโรค เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และ ปรสิตต่าง ๆ โดยเครื่องจะทำการดูดอากาศที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่เข้ามาในเครื่อง เชื้อโรคจะถูกทำลายด้วยแสง UVC และตัวเครื่องจะปล่อยอากาศบริสุทธิ์ออกมาสู่ภายนอกอีกครั้ง ทั้งนี้เครื่องฆ่าเชื้อโรคในอากาศโดยใช้รังสี UVC แบบติดเพดาน ได้เก็บกลไกทุกอย่างให้อยู่ในกล่องอะลูมิเนียมเพื่อความสวยงาม พัดลมดูดอากาศขนาดใหญ่สองตัว ที่ติดตั้งไม่ส่งเสียงรบกวน ไส้กรอง hepa ที่นำมาใส่เพื่อกรองฝุ่นเชื้อราและแบคทีเรีย ส่วนไวรัสจะถูกกำจัดด้วยลำแสง UVA ก่อนปล่อยอากาศบริสุทธิ์มาด้านหลังเครื่อง และวัสดุที่นำมาทำ ทำมาจากสแตนเลสและกระจกอะคริลิค การติดตั้งควรติดตั้งบริเวณกลางห้อง หรือ ติดตั้งให้อยู่ใกล้เครื่องปรับอากาศ เพราะจะทำให้เครื่องมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
จุดเด่น “เครื่องฆ่าเชื้อโรคในอากาศโดยใช้รังสี UVC แบบติดเพดาน” ได้ถูกออกแบบให้สวยงาม สามารถนำมาใช้เป็นเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งห้องได้ และเครื่องสามารถทำงานได้ตลอดทั้งวันโดยที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้อยู่อาศัยด้วย นอกจากนี้ ยังมีฟังชั่นที่สามารถสั่งงานผ่านรีโมท และแอพพลิเคชั่น ทำให้สามารถดูค่าอากาศต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย การทดลองใช้ ทางทีมวิจัยได้นำไปติดตั้งที่รัฐสภา เนื่องจากรัฐสภามีการประชุมอยู่บ่อยครั้ง ประกอบกับสถานที่ในบางห้องมีความอับชื้นสูง เพราะรัฐสภาแห่งใหม่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้เอกสารหรือเสื้อผ้าขึ้นรา แต่หลังจากการติดตั้งเครื่องฆ่าเชื้อโรคในอากาศโดยใช้รังสี UVC แบบติดเพดาน ทำให้รัฐสภาไม่มีเชื้อรา และไม่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ในห้องประชุมปัจจุบัน “เครื่องฆ่าเชื้อโรคในอากาศโดยใช้รังสี UVC แบบติดเพดาน” ได้รับการช่วยเหลือจากบริษัทอาร์บีเอส เข้ามาช่วยผลิตเครื่องต้นแบบ รวมถึงเข้ามาช่วยทดลองจนเครื่องได้รับมาตรฐาน มอก. และได้จดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นายจีระศักดิ์ จิตรโรจนรักษ์ อาจารย์โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวทิ้งท้ายว่า ในอนาคตจะพัฒนาให้เคลื่อนที่ได้ รวมถึงให้สามารถสั่งการผ่านมือถือได้เมื่ออยู่นอกบ้าน และจะพัฒนาออกแบบเครื่องให้มีหลายขนาดเพื่อให้ผู้ใช้งานได้เลือกใช้ให้เข้ากับขนาดห้อง อีกด้วย
###