วช.หนุนนักวิจัย มทร.พระนคร พัฒนากระบวนการแปรสภาพเส้นใยจากใบอ้อยเป็นสิ่งทอช่วยเพิ่มมูลค่าให้วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรและยังช่วยลดปัญหาการเผาทำลายสร้างมลพิษกับสิ่งแวดล้อม
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า แนวคิดในการเพิ่มประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-Efficiency) เป็นการสร้างความสมดุลระหว่างความเจริญก้าวหน้าทางธุรกิจที่เน้นเพิ่มผลกำไรให้กับองค์กร ไปพร้อมๆ กับการรักษาระบบนิเวศและลดผลกระทบให้กับสิ่งแวดล้อม จึงนับว่าเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการพัฒนาอย่างยั่งยืน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยในโครงการท้าทายไทยเพื่อจัดการความรู้เพื่อใช้ประโยชน์เชิงชุมชนสังคม ประจำปี 2564 ให้กับโครงการ “การพัฒนากระบวนการแปรสภาพเส้นใยจากใบอ้อย เพื่อการออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอตามแนวคิดนิเวศเศรษฐกิจ” ของ ดร.ศรัณย์ จันทร์แก้ว และ รศ.ดร.กิตติศักดิ์ อริยะเครือ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (มทร.พระนคร) เพื่อให้เกิดการนำองคะความรู้ไปเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและลดการสร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม
ดร.ศรัณย์ จันทร์แก้ว อาจารย์สาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร หัวหน้าโครงการ ฯ กล่าวว่า ปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย นิยมเผาทำลายซากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งในการสร้างมลพิษทางอากาศ เช่น ฝุ่น PM 2.5 เพื่อลดปัญหาดังกล่าว ทีมวิจัยได้จัดทำโครงการ “การพัฒนากระบวนการแปรสภาพเส้นใยจากใบอ้อย เพื่อการออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอตามแนวคิดนิเวศเศรษฐกิจ” ขึ้น โดยนำทฤษฎีนิเวศเศรษฐกิจมาใช้ในการพัฒนาเส้นใยจากใบอ้อย เพื่อพัฒนาเป็นสิ่งทอ และออกแบบให้เกิดเป็นสินค้ารูปแบบใหม่ ๆ ที่ยังคงเอกลักษณ์ชุมชนในการทอผ้า ทั้งนี้ได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับวิสาหกิจชุมชน กลุ่มสตรีทอ ตำบลเขาสามสิบ อำเภอเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว
“ ในพื้นที่ของวิสาหกิจชุมชนดังกล่าวมีการปลูกอ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก และยังมีอาชีพทอผ้าซึ่งเคยมีจุดเด่นที่การย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ แต่ปัจจุบันเอกลักษณ์ด้านภูมิปัญญาการย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติของชุมชนกำลังจะสูญหายไป ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาการเผาอ้อยในพื้นที่และแก้ปัญหาเรื่องความเป็นเอกลักษณ์ของสิ่งทอในชุมชน ทีมวิจัยจึงพัฒนาเส้นใยจากใบอ้อย ซึ่งไม่เคยมีการทำมาก่อน และนำมาพัฒนาเป็นสิ่งทอ พร้อมทั้งออกแบบให้เกิดเป็นสินค้ารูปแบบใหม่ ๆ ซึ่งได้มีการดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีองค์ความรู้แก่เกษตรกร และนำเสนอเป็นทางเลือกให้เกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการเพื่อลดการเผาที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ”
สำหรับการพัฒนาเส้นใยจากใบอ้อยเพื่องานออกแบบสิ่งทอนั้น ดร.ศรัณย์ เปิดเผยว่า เป็นการศึกษาเส้นใยผสมจากเส้นใยใบอ้อยและเส้นใยฝ้าย เพื่อสร้างเส้นด้ายสำหรับนำไปใช้ในงานสิ่งทอ โดยเส้นใยฝ้ายจะเป็นตัวช่วยในการปั่นเกลียวแบบหัตถกรรมร่วมกับวัตถุดิบหลักคือ เส้นใยใบอ้อยหลังแปรสภาพ โดยอาศัยทฤษฎี Triaxial blend ในการกำหนดอัตราส่วนผสมของวัตถุดิบ จากนั้นนำเส้นด้ายไปทอด้วยกี่มือ ทั้งนี้ในขั้นตอนการเตรียมเส้นใยอ้อยจะมีการคัดเลือกตั้งแต่สายพันธุ์อ้อย และนำใบมาหมักในน้ำหมักชีวภาพ นาน 4 เดือน ก่อนนำไปซักล้างล้างและผ่านการต้มด้วยน้ำเปล่าผสมโซดาไฟ ตากแดดให้แห้งจะได้เส้นใยที่อ่อนนุ่ม สามารถนำไปเป็นส่วนผสมร่วมกับเส้นใยชนิดอื่นเพื่อพัฒนาเป็นเส้นด้ายจากใยธรรมชาติสำหรับงานสิ่งทอต่าง ๆ
“ใบอ้อยนับเป็นพืชที่มีศักยภาพในการให้เส้นใยด้วยกระบวนการแบบหัตถกรรมได้โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องจักรอุตสาหกรรม จากผลการทดลองและการวิเคราะห์คุณสมบัติทางกายภาพตามมาตรฐานอุตสาหกรรมด้านความแข็งแรงของผ้าต่อแรงฉีกขาด ความหนาของผืนผ้า ความโค้งงอ ความแข็งแรงของเส้นด้ายและความสามารถในการดูดซึมความชื้น แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาเส้นด้ายใยอ้อยเพื่องานสิ่งทอ ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตสิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผลิตภัณฑ์ที่ได้สามารถนำมาออกแบบและใช้งานได้อย่างหลากหลาย” เรียกได้ว่านอกจากจะช่วยลดมลพิษจากการเผาอ้อยแล้ว ยังช่วยพัฒนางานสิ่งทอเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร สร้างรายได้เพิ่มและยังคงเอกลักษณ์ในการทอผ้าของชุมชนได้อีกด้วย
###