วช. ร่วม สอศ. เสริมศักยภาพการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา

   วช. ร่วมกับ สอศ. จัดกิจกรรม “การบ่มเพาะเพิ่มศักยภาพการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา : Smart Invention & Innovation ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรมเซ็นทาราคอนเวนชันเซ็นเตอร์อุดรธานี จังหวัดอุดรธานี เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของนักเรียน นักศึกษาสายอาชีวศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมให้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ

   สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดกิจกรรม “การบ่มเพาะเพิ่มศักยภาพการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา : Smart Invention & Innovation ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงานพร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “พัฒนาคน พัฒนาอาชีวะ : เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซ็นทาราคอนเวนชันเซ็นเตอร์อุดรธานี จังหวัดอุดรธานี

   ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาคนและสังคมไทย ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศไทย ให้มีรากฐานที่เข้มแข็ง เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ สู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคม ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาการอาชีวศึกษา พ.ศ. 2560 – 2579 และแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2579 ในการมุ่งเน้นการผลิตและพัฒนากำลังคน การวิจัย และนวัตกรรม เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พร้อมทั้งการพัฒนาศักยภาพกำลังคนให้มีสมรรถนะสอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนาประเทศ วช. และ สอศ. จึงได้ร่วมกันวางแผนสร้างกลไกและจัดทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนและบุคลากรของสถาบันการศึกษาได้พัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีทักษะและคุณลักษณะที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีของโลก สามารถสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่สร้างผลผลิตและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ต่อไป

   โดยการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ วช. ได้กำหนดกลุ่มเรื่องผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ดังนี้ 1. ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร 2. ด้านสาธารณสุข สุขภาพ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ 3. ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ อุปกรณ์อัจฉริยะ 4. ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และ BCG Economy Model และ 5. ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งการจัดกิจกรรมมีทั้งในรูปแบบ Onsite โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรอบรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการพัฒนาผลงานในการพัฒนาผลงานนวัตกรรมในเวทีระดับชาติและระดับนานาชาติ ซึ่งท่านจะมาให้ความรู้ ความเข้าใจ กับทีมสายอาชีวศึกษา เพื่อพัฒนาผลงานนวัตกรรม ที่จะเป็นกลไกหนึ่งในการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม ในการขับเคลื่อนการพัฒนาและสร้างนวัตกรรมในอนาคตต่อไป

   สำหรับ พิธีปิดกิจกรรม “การบ่มเพาะเพิ่มศักยภาพการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา : Smart Invention & Innovation ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” จัดขึ้นในวันที่ 2 มิถุนายน 2565 โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีปิดพร้อมมอบรางวัลกิจกรรมติดดาว และมอบเกียรติบัตรให้แก่ผู้ผ่านการอบรมฯ ด้วย กิจกรรม “การบ่มเพาะเพิ่มศักยภาพการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา : Smart Invention & Innovation ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ในครั้งนี้ มีผลงานที่ได้รับรางวัลติดดาวในแต่ละกลุ่มเรื่อง ดังนี้ 1. ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร รางวัล 5 ดาว ได้แก่ ผลงาน “เตาอบแดดเดียวพลังงานแสงอาทิตย์แบบสะท้อนกลับ” ของ วิทยาลัยสารพัดช่างศรีสะเกษ 2. ด้านสาธารณสุข สุขภาพ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ รางวัล 5 ดาว ได้แก่ ผลงาน “นวัตกรรมรัดนิ้วข้อมือหัก” ของ วิทยาลัยเทคนิคปักธงชัย 3. ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ อุปกรณ์อัจฉริยะ รางวัล 4 ดาว ได้แก่ ผลงาน “ระบบรดน้ำอัตโนมัติโดยใช้เซ็นเซอร์วัดความชื้นในดินและอากาศ” 4. ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และ BCG Economy Model รางวัล 5 ดาว ได้แก่ ผลงาน “กระเบื้องผนังจากขยะโฟมรีไซเคิล” ของ วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี และ 5. ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รางวัล 5 ดาว ได้แก่ ผลงาน “อุปกรณ์ขับเคลื่อนกระสวยทอผ้ากึ่งอัตโนมัติ” ของ วิทยาลัยอาชีวศึกษาสกลนคร

###