วช. เชิดชูนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ปี 65 ผู้พัฒนา “กราฟีน” วัสดุแห่งอนาคต

   วันที่ 8 มิถุนายน 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงาน NRCT Talk เปิดบ้านงานวิจัยและนวัตกรรม By NRCT ครั้งที่ 6 ยกย่องนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ปี 2565 สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ “ดร.อดิสร เตือนตรานนท์” แห่งศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงาน ณ ศูนย์จัดการความรู้การวิจัย ชั้น อาคาร วช.1 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร



   ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า “กิจกรรม “NRCT Talk : นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565” จัดขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรตินักวิจัยไทยที่มีผลงานโดดเด่น สร้างคุณูปการให้กับวงวิชาการและประเทศชาติ รวมทั้งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการสร้างแรงจูงใจของนักประดิษฐ์ และนักวิจัยในอันที่จะพัฒนานวัตกรรมทางความคิด และภูมิปัญญาที่เป็นประโยชน์ สร้างความก้าวหน้าในศาสตร์แขนงต่าง ๆ ซึ่งในวันนี้ วช. ได้รับเกียรติจากนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติอีก 1 ท่าน คือ ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ แห่ง ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ สวทช. ผู้ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ปี 2565 สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ เป็นนักวิจัยที่ได้อุทิศตนเพื่องานวิจัยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการนำนาโนเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยในการใช้ให้เกิดประโยชน์ จนได้ประสบความสำเร็จในการสังเคราะห์กราฟีนได้เป็นกลุ่มแรกในประเทศไทย ได้นำกราฟีนไปประยุกต์ใช้เป็นเซนเซอร์ในอุตสาหกรรมอาหาร การเกษตร การแพทย์ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม นําไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีที่ทําให้เกิดการพึ่งพาตนเอง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ”



   ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ กล่าวว่า “ทีมวิจัยได้ทำการวิจัยในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนาโนเทคโนโลยีมากว่า 20 ปี สิ่งที่เราค้นพบ คือ วัสดุคาร์บอนแบบ 2 มิติ ที่เรียกว่า “กราฟีน (Graphene)” ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษ คือ เป็นวัสดุที่มีในธรรมชาติ หาง่ายมีความนำไฟฟ้าสูงและมีความแข็งแรงมากกว่าเหล็กถึง 200 เท่า มีขนาดที่โค้งงอ ยืดหยุ่นได้ดี มีราคาถูก และมีพื้นที่ผิวสูง ส่วนนี้จึงเป็นที่มาของการนำเอาวัสดุกราฟีนมาใช้ในการทำงานวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่า เพิ่มระยะเวลาในการใช้งานให้นานยิ่งขึ้น การนำวัสดุกราฟีนไปผสมในไฟฟ้า ในแบตเตอรี่ หรือตัวเก็บประจุไฟฟ้ายิ่งยวด กราฟีนจะมีส่วนช่วยทำให้การเก็บประจุไฟฟ้าได้เพิ่มมากขึ้น โดยที่พื้นที่ผิวของขั้วไฟฟ้าที่สูงขึ้น ทำให้เก็บประจุไฟฟ้าได้มากขึ้น แล้วก็ยังสามารถทำงานในระยะเวลาที่นานขึ้นอีกด้วย”



   “สิ่งที่น่าสนใจ คือ การนำกราฟีนมาประยุกต์ใช้ในด้านของความมั่นคงทางสังคม อาหาร สิ่งแวดล้อม พลังงงานและทางการแพทย์ ด้วยการพัฒนาเซนเซอร์ด้วยวัสดุขั้นสูงนาโนกราฟีน โดยใช้เทคโนโลยีการพิมพ์สกรีนทำให้ได้เซนเซอร์กราฟีนชนิดพิมพ์ที่มีความไวสูง ต้นทุนต่ำสามารถตีพิมพ์ลงบนพื้นผิวได้หลายชนิด และส่งเสริมกำลังผลิตในระดับอุตสาหกรรม ด้านทางการแพทย์ ได้แก่ ชุดตรวจสารเสพติด ชุดตรวจเชื้อก่อโรคในอาหาร เซนเซอร์วัดสารเร่งเนื้อแดง และชุดตรวจเชื้อวัณโรค ด้านอาหารและสิ่งแวดล้อมการนำกราฟีนมามีส่วนช่วยในการวัดระดับกลิ่นข้าวหอมมะลิด้วยเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ AI และการนำกราฟีนมาเป็นส่วนผสมในการผลิตผ้าอนามัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้น กราฟีนนับเป็นวัสดุแห่งอนาคตที่จะนำไปสู่นวัตกรรมรูปแบบใหม่ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและเพิ่มขีดความสามารถยกระดับการแข่งขันของประเทศได้อย่างยั่งยืน” ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ กล่าวทิ้งท้าย



   สำหรับกิจกรรม “NRCT Talk : นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565” ในครั้งนี้ จัดเพื่อเป็นเวทีให้นักวิจัยได้นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมผ่านสื่อมวลชน ตลอดจนการผลิตและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัย ผลงานประดิษฐ์คิดค้น กิจกรรม ภารกิจ และผลการดำเนินงาน ของ วช. เพื่อให้สื่อมวลชนเป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์และเผยแ พร่ผลงานและกิจกรรมของ วช. ไปสู่ชุมชนและสาธารณชนเพื่อให้ได้ทราบและนำไปสู่การใช้ประโยชน์ต่อไป

###