วช. ชี้แจงกรอบการวิจัย ด้านเศรษฐกิจและการเกษตร ประจำปี 2566 พร้อมแถลงผลสำเร็จ NRCT Open House 2021

   วช. เปิดบ้านชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2566 พร้อมแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม NRCT Open House 2022 “วิจัยและนวัตกรรมในประเด็นท้าทายของประเทศ” เพื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการรับข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ที่ วช. ให้การสนับสนุนทุนในปี 2566 ระหว่างวันที่ 12 – 19 มิถุนายน 2565 ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และออนไลน์ผ่านวีดีทัศน์ทางไกล (VDO Conference) ด้วยระบบ Zoom และการถ่ายทอดสด (Live Steaming) ผ่าน Facebook ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

   วันที่ 14 มิถุนายน 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการประชุมชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรมด้านการจัดการความรู้การวิจัยและถ่ายทอดเพื่อการใช้ประโยชน์ประจำปีงบประมาณ 2566 และการแถลงผลสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจและการเกษตร NRCT Open House 2022 “วิจัยและนวัตกรรมในประเด็นท้าทายของประเทศ” เพื่อชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2566 ของ วช. และแนวทางการเขียนและพิจารณาข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรมและการยื่นขอทุน วช. ด้านเศรษฐกิจและการเกษตรโดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมฯ

   ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ โดยมุ่งเน้นผลสำเร็จจากการวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ ทั้งมิติด้านวิชาการ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและชุมชน และด้านนโยบาย เพื่อใช้เป็นกลไกในการพัฒนาและแก้ปัญหาเร่งด่วนสำคัญของประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การจัดงานชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ปี 2566 และการแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม NRCT Open House ระหว่างวันที่ 12 – 19 มิถุนายน 2565 ซึ่งในวันนี้เป็นวันที่สาม จะเป็นด้านเศรษฐกิจและการเกษตร การสร้างการรับรู้ รวมถึงการแนะนำการเขียนข้อเสนอทางการวิจัยในประเด็นด้านเศรษฐกิจและการเกษตร เน้นการเพิ่มมูลค่า ความต้องการทางการตลาด โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามามีส่วนช่วยในการยกระดับผลิตภัณฑ์สินค้าทางการเกษตร การทำเกษตรแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า สมาร์ทฟาร์มมิ่ง เน้นการสร้าง องค์ความรู้ การผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ สู่การวางแผนให้สอดคล้องกับปริมาณผู้บริโภค ประเด็นการพัฒนาเกษตรฐานราก การพัฒนาธุรกิจในรูปแบบ SME การพัฒนาเชิงการทำงานในภาคอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ร่วมกันกับทุกภาคส่วนประเด็นที่มุ่งเน้นผลไม้เพื่อการส่งออกตอบรับภาคการเกษตรสร้างคุณภาพให้กับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร วช. ว่างกลไกให้ตรงกับประเด็นผู้บริโภค ตรงประเด็นความต้องการของตลาด โดยนำผลงานของงานวิจัยและนวัตกรรม โดยการต่อยอดและขยายผล​ การเจาะตลาดในประเทศจีนหลังสถานการณ์โควิด การนำผลไม้ไทยเจาะตลาดจีน การยืดอายุผลิตภัณฑ์ผลไม้สด การสร้างผลิตภัณฑ์แปรรูปผลไม้ โดยนำชุดข้อมูลความรู้มาหนุนเสริม การนำจุลินทรีย์เข้ามามีส่วนช่วยโดยรูปแบบการขยายผลสารอาหารที่ช่วยต้านมะเร็งนำไปสู่การแลกเปลี่ยนความรู้ในครั้งนี้ โดยมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญของแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พ.ศ. 2566-2570 โดยในปีงบประมาณ 2566- 2570 วช. ได้รับมอบหมาย จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ให้ดำเนินการบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ 2 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ 1) ยุทธศาสตร์ที่ 2 การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาท้าทาย และปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม และ 2) ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนากำลังคนและสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม วช. มุ่งมั่นการสร้างนักวิจัยอาชีพที่สามารถสร้างองค์ความรู้และผลิตผลงานที่มีคุณภาพสูงในระดับสากล ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการขยายเครือข่ายวิจัยที่มีประสิทธิภาพสูงต่อไป

   ทั้งนี้กิจกรรมภายในงาน มีการเสวนา เรื่อง “แนวทางการเขียนและพิจารณาข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม ด้านเศรษฐกิจและการเกษตร ประจำปีงบประมาณ 2566” ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.กล้าณรงค์ ศรีรอต รองศาสตราจารย์ ดร.สุทธิพันธุ์ แก้วสมพงษ์ ศาสตราจารย์ ดร.โสระยา ร่วมรังษี รองศาสตราจารย์ ดร.สมพร อิศวิลานนท์ นอกจากนี้ยังมีนำเสนอวีดิทัศน์แนะนำการใช้งานระบบ NRIIS และการแถลงผลสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจและการเกษตร และแลกเปลี่ยประสบการณ์การเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม โดย รองศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติพงษ์ โตบันลือภพ ดร.นพรัตน์ อินถา ดร.อนันต์ พิริยะภัทรกิจ ดร.จันทร์จนา ศิริพันธ์วัฒนา ร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำเนินการโครงการและแนวทางในการพัฒนาเส้นทางอาชีพวิจัยและนวัตกรรม โดยกิจกรรม NRCT Open House2022 : ด้านเศรษฐกิจและการเกษตรเทคโนโลยี มีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ เน้นการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร ในทุกมิติและทุกแง่มุม รวมถึงภาคเศรษฐกิจและการเกษตรโดยการนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยสู่การใช้ประโยชน์การขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาประเทศชาติได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

   สำหรับการเปิดรับข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม วช. จะเปิดรับตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน ถึง วันที่ 11 สิงหาคม 2565 โดยนักวิจัยต้องยืนยันการเข้าร่วมทำวิจัยในระบบ NRIIS ภายในวันที่ 11 สิงหาคม 2565 เวลา 18.00 น. ส่วนหน่วยงานต้นสังกัดของนักวิจัย ต้องรับรองข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม ในระบบ NRIIS ภายในวันที่ 18 สิงหาคม 2565 เวลา 18.00 น. การประกาศผลการพิจารณา วช. จะประกาศผ่านเว็บไซต์ www.nrct.go.th และ https://nriis.go.th

###