สิงคโปร์โชว์ 3 แผนพัฒนาเพื่อเปลี่ยนประเทศเป็นเมืองแห่งสุขภาพและหมุดหมายแห่งความยั่งยืน
สิงคโปร์ได้เปิดตัวแคมเปญโปรโมตการท่องเที่ยว “SingapoReimagine” เมื่อเร็วๆ นี้ โดยแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของประเทศที่จะชูจุดเด่นในการเป็นเมืองแห่งสุขภาพและหมุดหมายการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนสำหรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ถึงแม้จะมีข้อจำกัดในด้านขนาดพื้นที่และทรัพยากรธรรมชาติ แต่ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ประเทศสิงคโปร์ได้พิสูจน์ตัวเองให้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ทุกสิ่งสามารถเป็นไปได้ ถ้าหากได้ลงมือทำภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง วันนี้สิงคโปร์ได้วางจุดยืนของตนเองให้เป็นหนึ่งในประเทศที่เขียวขจีที่สุดในโลก และภาคการท่องเที่ยวก็ได้เร่งพัฒนาและเปิดตัวสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพมากมายให้กับผู้มาเยือน โดยเริ่มต้นจากเทศกาลส่งเสริมสุขภาพสิงคโปร์ 2565 ในเดือนมิถุนายน ซึ่งถือว่าสิงคโปร์กำลังมาถูกทางแล้วในการเป็นเมืองแห่งสุขภาพและความยั่งยืนแห่งแรกในทวีปเอเชีย โดยการท่องเที่ยวสิงคโปร์ (Singapore Tourism Board) ขอพาคุณไปเจาะลึกถึงแผนพัฒนาประเทศ 3 แผนที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศสิงคโปร์
1. การเป็น “เมืองสีเขียว”
ในปี 2559 สิงคโปร์ได้รับการขนานนามว่าเป็นเมืองที่เขียวขจีที่สุดในเอเชีย โดย Arcadis Sustainable Cities Index ซึ่งวัดจากความยั่งยืนของเมืองในด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ นี่คือข้อพิสูจน์ถึงความสำเร็จด้านวิสัยทัศน์ของประเทศสิงคโปร์ ที่เรียกว่า “Garden City” ซึ่งเสนอโดยอดีตนายกรัฐมนตรี ลี กวน ยู ในปี 2510 เพื่อเปลี่ยนเมืองสิงคโปร์ให้เป็นพื้นที่สีเขียว และยกระดับภาพชีวิตของประชาชนชาวสิงคโปร์ อีกทั้งยังช่วยให้สิงคโปร์เป็นจุดหมายที่ดึงดูดนักลงทุนและนักท่องเที่ยวอีกด้วย เป็นเวลากว่า 50 ปี สิงคโปร์ไม่เพียงปลูกต้นไม้มากขึ้น แต่ยังผุดโครงการมากมาย เช่น การออกมาตรการในปี 2551 สำหรับอาคารก่อสร้างใหม่ จะต้องมีความเป็นอาคารสีเขียว โดยมีข้อกำหนดให้อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น ต้องมีการออกแบบหลังคาหรือผนังสีเขียว ระบบการใช้พลังงานไฟฟ้าและน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยโครงการเหล่านี้ล้วนมีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสิงคโปร์ให้เป็นเมืองสีเขียวมากขึ้น
นอกเหนือจากอาคารพาณิชย์และอาคารที่พักอาศัยแล้ว สิงคโปร์ยังสร้างพื้นที่สาธารณะสีเขียวทั่วทั้งประเทศอีกด้วย หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ พาร์คคอนเน็คเตอร์ (ParkConnector) หรือทางเดินยาว 300 กิโลเมตรที่เชื่อมสวนสาธารณะ และพื้นที่ทางธรรมชาติทั่วทั้งเกาะสิงคโปร์ ทางเชื่อมนี้ช่วยกระตุ้นให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ค้นหาและสนุกสนานไปกับกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ในธรรมชาติ ตั้งแต่การปั่นจักรยาน การวิ่งจ็อกกิ้ง หรือการเดินเพื่อการผ่อนคลาย เป็นต้น อีกหนึ่งตัวอย่างคือสวนริมทะเลสาบขนาดใหญ่การ์เด้น บาย เดอะ เบย์ (Gardens By The Bay) ที่รวมเอาสวนสไตล์ต่างๆ พื้นที่การเรียนรู้สำหรับเด็ก ทางเดินธรรมชาติ และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ มารวมกันอยู่บนพื้นที่ 101 เฮคเตอร์ (มากกว่า 630 ไร่) นักท่องเที่ยวอาจจะคุ้นเคยกับฟลาวเวอร์ โดม (Flower Dome) และ คลาวด์ฟอร์เรสโดม (Cloud Forest Dome) แล้ว แต่หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าสถานที่ท่องเที่ยวสองแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์เมืองสีเขียว คือนอกจากจะเป็นโรงเรือนปลูกต้นไม้แล้ว ยังทำหน้าที่เป็นโรงแสดงดนตรีอีกด้วย การสร้างสรรค์พื้นที่สีเขียวยังไม่หมดเพียงแค่นี้ ในช่วงวิกฤติโรคโควิด-19 ประเทศสิงคโปร์ได้ประกาศว่าจะมีการพัฒนาใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามันได (Mandai Wildlife Reserve) เปิดแผนปรับปรุง โดยจะรวมสวนสัตว์สิงคโปร์, สวนนก, ไนท์ซาฟารีเข้าด้วยกัน ซึ่งจะมอบประสบการณ์การท่องเที่ยวใหม่ๆ โดยเพิ่มความใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น เช่น ห้องพักที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ถนนออร์ชาร์ด แหล่งช็อปปิ้งระดับโลกก็มีการปรับปรุงขนานใหญ่เช่นกัน โดยการย้อนอดีตกลับไปเป็นสวนสมุนไพรและสวนผลไม้ โดยจะปลูกต้นไม้ตลอดแนวถนน เพื่อสร้างทางเดินสีเขียวที่จะเชื่อมถนนออร์ชาร์ดกับแม่น้ำสิงคโปร์ เพิ่มพื้นที่สีเขียวในหลายๆ จุด เช่น ทางเดินในร่ม สวนและสนามเด็กเล่นตลอดเส้นทาง โดยแนวคิด “Garden City” นี้ได้ดำเนินมาอย่างยาวนานตั้งแต่มีการริเริ่มในปี 2510 จนถึงวันนี้ สิงคโปร์ได้พัฒนาไปสู่แนวคิดใหม่ “City in Nature” โดยยังรักษามรดกความเป็นเมืองสีเขียว อยู่พร้อมๆ ไปกับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อความยั่งยืนทางธรรมชาติในอนาคต
2. พลิกโฉมการสร้างพลังงานและแหล่งอาหาร เพื่อความยั่งยืนและอนาคตที่มั่นคงมากขึ้น
การสร้างอนาคตที่ยั่งยืน นอกเหนือจากการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว ประเทศสิงคโปร์ยังทุ่มเทความพยายามในการหาทางเลือกใหม่ๆ เพื่อผลิตพลังงานและการบริโภคอาหาร ในปี 2546 สิงคโปร์เปิดตัวโครงการ “NEWater” ได้สำเร็จ “NEWater” คือน้ำที่ผ่านการรีไซเคิลที่มีคุณภาพสูง เพื่อนำมาใช้ในอุตสาหกรรม และการระบายความร้อนเป็นหลัก บางครั้งก็สามารถนำไปใช้ในครัวเรือนได้ด้วย น้ำนี้ผลิตจากโรงบำบัดรีไซเคิล 5 แห่งซึ่งเป็นผลจากแนวคิดริเริ่มในยุคปี 70 ที่จะกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังได้เปิดตัวฟาร์มโซล่าร์เซลล์ลอยน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปี 2564 ด้วยขนาดเทียบเท่ากับสนามฟุตบอล 45 สนาม โดยพลังงานที่ผลิตได้จากฟาร์มจะถูกใช้ในการบำบัดน้ำเสียของสิงคโปร์ และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ด้วย เนื่องจากการใช้พลังงานจากฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์นี้ เทียบเท่ากับการเอารถยนต์ 7,000 คันออกจากถนนของสิงคโปร์นั่นเอง
ในด้านของการบริโภคทรัพยากรและการค้นหาวิธีการผลิตพลังงานให้มีประสิทธิภาพ สิงคโปร์เริ่มใช้ต้นไม้เทียม ที่เรียกว่า “ซุปเปอร์ทรี (Supertrees)” ซึ่งหากดูด้านนอก ก็เหมือนต้นไม้ใหญ่ที่มีเฟิร์น เถาวัลย์และกล้วยไม้มาอาศัยล้อมรอบ แต่มันยังมีอะไรมากกว่านั้น นวัตกรรมชิ้นนี้ เป็นการลอกเลียนแบบต้นไม้จริง โดยสามารถดูดซับพลังงานแสงอาทิตย์ที่ช่วยให้ต้นไม้ส่องสว่างได้เองเมื่อถึงเวลาของการแสดงโชว์กลางคืน Gardens Rhapsody
นอกเหนือจากการใช้พลังงานทางเลือกแล้ว อนาคตที่ยั่งยืนของสิงคโปร์ยังรวมถึงการบริโภคอาหารอย่างยั่งยืนด้วย ร้านอาหารแนวใหม่มากมาย เช่น “โอเพน ฟาร์ม คอมมูนิตี้ (Open Farm Community)” นำเสนอประสบการณ์การทานอาหารจากฟาร์มสู่โต๊ะอาหาร เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนทางด้านอาหาร โดยแต่ละเมนูได้ผ่านการคัดสรรด้วยความเคารพต่อธรรมชาติ และใช้วัตถุดิบที่ปลูกเองในสวนบริเวณร้าน เพื่อแสดงถึงความงามของอาหารที่ปรุงขึ้นจากวัตถุดิบที่ได้รับการดูแลอย่างดียิ่ง ร้านอาหารแห่งนี้ได้พิสูจน์ความสำเร็จด้วยการคว้ารางวัล 2021’s MICHELIN Plate distinction ที่การันตีถึงรสชาติอาหารชั้นเยี่ยม สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นว่า ประเทศสิงคโปร์ยังคงก้าวต่อไปเพื่อนำเสนอทางเลือกใหม่ๆ ในการผลิตพลังงานและอาหารเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
3. เสริมสร้างสุขภาพที่ดีอย่างมีเอกลักษณ์
สิงคโปร์ได้ประกาศแผนการเป็นหมุดหมายด้านสุขภาพสำหรับนักท่องเที่ยวนานาชาติ ด้วยกิจกรรมต่างๆ ที่จะช่วยคลายความเครียดจากสังคมเมืองกลายเป็นจุดขายที่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่นของเมืองสิงคโปร์ที่พร้อมให้บริการด้านสุขภาพในใจกลางเมืองนั้นเอง เริ่มต้นด้วยเทศกาลส่งเสริมสุขภาพสิงคโปร์ 2565 (Wellness Festival Singapore 2022) ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกระหว่างวันที่ 3-12 มิถุนายน 2565 ที่มีทั้งกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ และประสบการณ์ด้านสุขภาพมากมายทั่วทั้งเกาะ เทศกาลนี้รวบรวมทั้งกิจกรรมด้านอาหารและเครื่องดื่ม การบริการโรงแรม ศิลปะและงานประดิษฐ์ และธุรกิจท่องเที่ยว เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจและค้นหาสมดุลของชีวิต อีกตัวอย่างหนึ่งของการให้บริการด้านสุขภาพในเมืองคือแพ็คเกจที่พัก 2 วัน1 คืนของโรงแรมราฟเฟิลส์ (Raffles Hotel) ที่เรียกว่า “Journey to Wholeness” โดยเหนือกว่าการพักผ่อนแบบธรรมดาที่โรงแรม ด้วยการให้บริการฟื้นฟูสุขภาพของแขกที่เข้าพักด้วยประสบการณ์ของการผ่อนคลายอย่างล้ำลึก เปิดการสัมผัส สร้างการตระหนักรู้ และการรักษาด้วยอาหาร การทำสมาธิ โยคะยามเช้า การเคลื่อนไหวและการบำบัดด้วยเสียง ซึ่งภาคธุรกิจในสิงคโปร์เห็นถึงโอกาสและเริ่มหันมาเสนอบริการด้านสุขภาพมากขึ้น ทำให้สิงคโปร์เป็นหมุดหมายปลายทางด้านสุขภาพของนักเที่ยวอย่างแท้จริง
กิจกรรมและสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่ได้กล่าวไป ได้ทำให้รู้จักกับบางส่วนของแคมเปญการท่องเที่ยว SingapoReimagine” ของสิงคโปร์ ที่รวมเอาประสบการณ์ความยั่งยืนและด้านสุขภาพใหม่ๆ และอันมีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร ที่นักท่องเที่ยวตั้งตารอ ซึ่งช่วยตอกย้ำถึงแนวทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และส่งเสริมแนวคิดด้านสุขภาพในการเดินทาง จุดนี้จะเป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดนักเดินทางจากทั่วโลกให้มาเยือนสิงคโปร์
###