วช. จัดประชุมการผลิตแบบดิจิทัลอัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมทางการแพทย์อนาคต “NRCT’S IDF Consortium ครั้งที่ 2”
วันที่ 21 มิถุนายน 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยความร่วมมือของราชบัณฑิต และภาคีราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ จัดงาน NRCT’S IDF Consortium ครั้งที่ 2 “การผลิตแบบดิจิทัลอัจฉริยะ: เทคโนโลยีการผลิตเพื่ออุตสาหกรรมการแพทย์อนาคต” (Intelligent Digital Fabrication: Manufacturing Technologies for Future Medical Industries) โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงาน ณ โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส กรุงเทพมหานคร และผ่านระบบ Zoom
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีภารกิจหลักในการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรม ในประเด็นสำคัญของประเทศ โดยมุ่งเน้นผลงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทั้งเชิงวิชาการ เชิงเศรษฐกิจ เชิงสังคมชุมชน และเชิงนโยบาย เพื่อใช้เป็นกลไกในการพัฒนาและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ในปัจจุบันเทคโนโลยีการพิมพ์อัจฉริยะกำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศได้เริ่มมีการใช้เทคโนโลยีการพิมพ์แบบอัจฉริยะที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าเป็นการพิมพ์ 3 มิติ 4 มิติในกระบวนการผลิตมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในอุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมการแพทย์ก็เป็นอีกอุตสาหกรรมที่เริ่มมีการใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบดิจิทัลอัจฉริยะอย่างแพร่หลาย เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ 4 มิติ ในเชิงการแพทย์นี้เป็นประโยชน์ต่อบุคลากรการแพทย์และคนไข้อย่างมาก โดยช่วยทั้งในเรื่องการวางแผนรักษาของแพทย์ ลดระยะเวลาและเพิ่มประสิทธิภาพในการผ่าตัดรักษา ประหยัดค่าใช้จ่าย ในขณะที่คนไข้หายเร็ว ลดผลข้างเคียง ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“วช. ได้เล็งเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีการผลิตแบบดิจิทัล ซึ่งมีแนวโน้มเข้ามาเปลี่ยนแปลงหรือแทนที่การผลิตในรูปแบบเดิมและกำลังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ ในขณะเดียวกัน นับเป็นโอกาสที่สำคัญของประเทศไทยในการพัฒนาองค์ความรู้ ตลอดจนเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการผลิตแบบดิจิทัลที่ไทยมีศักยภาพเพื่อการประยุกต์ใช้สำหรับอุตสาหกรรมในประเทศ รวมทั้งการผลิตและจำหน่ายไปยังต่างประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางเศรษฐกิจ” ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง กล่าวทิ้งท้าย
ภายในงานมีการบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “โอกาสและความท้าทายใหม่ในอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทย” โดย ศ.(กิตติคุณ) นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ขณะนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีอย่างมากสำหรับอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพและการแพทย์ของไทย เพราะว่าบุคลากรทางการวิจัยมีความพร้อมอย่างมาก มีการทำงานที่หลากหลายสาขา เมื่อมีการปฏิรูประบบวิจัยช่วงเวลาที่ผ่านมา กสว. ได้รับนโยบายจากสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) 4 เรื่อง ได้แก่ 1. อาหารมูลค่าสูง อาหารเพื่อสุขภาพ อาหารเพื่ออนาคต 2. การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อสุขภาพและการแพทย์ 3. การใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ และ 4. พลังงาน โดยสิ่งที่ กสว. ได้ขับเคลื่อนนโยบายของ สอวช. คือ การให้หน่วยงาน PMU ต่าง ๆ ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว พร้อมสนับสนุนงบประมาณ ปัจจุบันได้มีการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนมากขึ้น และปัจจัยที่สำคัญ คือ กฎหมายใหม่ ได้แก่ พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.2564 (TRIUP ACT) จะช่วยปลดล็อกความเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา ช่วยกำหนดนโยบายและแนวทางการดำเนินการของการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม ที่ทำให้ผลงานวิจัยเป็นของผู้รับทุน ซึ่ง พรบ. ดังกล่าว มีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา เมื่อได้ผลผลิตออกมา ก็ต้องทดสอบ เปรียบเทียบคุณสมบัติให้ได้มาตรฐาน เพื่อที่จะสามารถขึ้นทะเบียนและผลิตออกมาขายได้
“สิ่งสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนางานวิจัยในภาคอุตสาหกรรม คือ ภาครัฐต้องมาช่วยสนับสนุนการใช้ผลผลิตจากฝีมือนักวิจัยไทย ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อช่วยเหลือนักวิจัยไทย และนี่เป็นโอกาสที่จะได้ร่วมมือกันของนักวิจัยและผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมทางสุขภาพและการแพทย์ของไทยให้ก้าวหน้าต่อไป” ศ.(กิตติคุณ) นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธาน กสว. กล่าวทิ้งท้าย
นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาในหัวข้อ “ทิศทางขับเคลื่อนเทคโนโลยีการผลิตแบบดิจิทัล (การพิมพ์ 3มิติ / 4 มิติ) สำหรับอุตสาหกรรมการแพทย์ไทย” โดยมี นพ.ธนะสิทธิ์ ก้างกอน แห่งกลุ่มงานศัลยกรรม โรงพยาบาลชลบุรี, ดร.วิวัฒน์ นวลสิงห์ แห่งสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, คุณสุเมธ ไชยสูรยกานต์ แห่งบริษัท เมติคูลี่ จำกัด, คุณโชคชัย ยิ่งวัฒน์พงษ์ แห่งบริษัท หาญ เอ็นจิเนียริ่ง โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) และมี ศ.ดร.ภญ.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
สำหรับงาน NRCT’S IDF Consortium ครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 แล้ว เพื่อรวบรวมข้อมูลและกำหนด ประเด็นสำคัญ สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยี IDF ในกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ รวมทั้งเพื่อสร้างและขยายเครือข่ายความร่วมมือนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ผลิต ผู้ใช้ประโยชน์และหน่วยงานภาคนโยบาย ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนงานด้านนี้ของประเทศไทยได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป
###