sacit สร้างแพลตฟอร์มส่งเสริมหัตถกรรมไทยสู่ตลาดโลก พร้อมสร้างตราสัญลักษณ์ sacit กำหนดมาตรฐานสินค้า
sacit ขานรับวันผ้าไทยแห่งชาติ 12 สิงหาคม 2565 โชว์ภูมิปัญญาหัตถกรรมผ้าไทยวน ชั้นครูศิลป์ ของแผ่นดิน และครูช่างศิลปหัตถกรรม มุ่งสืบสานต่อยอดองค์ความรู้ ทักษะเชิงช่าง และอนุรักษ์ผ้าทอของไทยไม่ให้สูญหายตามกาลเวลา
นายพรพล เอกอรรถพร รักษาการแทน ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย กล่าวว่า sacit หรือสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) มีภารกิจหนึ่งในด้านการสืบสาน ส่งเสริมคุณค่า ยกย่อง เชิดชู รักษา พัฒนา และเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรมไทย พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย รวมถึงพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการศิลปหัตถกรรมไทยให้มีความรู้ ความสามารถ เกิดการอนุรักษ์ และสืบสานภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สั่งสมสืบทอดจากบรรพบุรุษ สะท้อนถึงศาสตร์และศิลป์เชิงช่าง ในสาขาต่างๆ ให้ดำรงคงอยู่โดยไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา รวมทั้งส่งต่อองค์ความรู้สู่คนรุ่นหลังให้ได้เห็นคุณค่า ก่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจในการอนุรักษ์ สืบสาน เกิดการนำภูมิปัญญาดั้งเดิมที่อยู่ในตัวบุคคลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ ในการส่งต่อให้ถึงผู้ที่อยู่ในวงการงานศิลปหัตถกรรมไทย เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาต่อยอดด้วยความคิดสร้างสรรค์ให้งานศิลปหัตถกรรมไทยมีความร่วมสมัยต่อไป
นายพรพล กล่าวเพิ่มเติมว่า sacit ได้จัดทำแพลตฟอร์มหรือเว็บไซต์ ซึ่งเป็นห้างออนไลน์ที่แสดงสินค้าเฉพาะงานหัตถกรรม ที่จะสามารถดึงคนที่สนใจงานด้านนี้จากทั่วทุกมุมโลกเข้าชมได้ พร้อมกันนี้ยังได้มีการจัดตรา "sacit" เป็นตราสัญลักษณ์เพื่อรองรับมาตรฐานผลิตภัณฑ์หัตถกรรม จะมีการสแกน QR Code ที่สามารถแสดงถึงขั้นตอนวิธีทำ ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบกระบวนการเป็นการสร้างที่มาที่ไปได้จนเป็นการยกระดับคุณค่าเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา sacit ให้ความสำคัญกับผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทยเป็นอย่างมาก เพราะเป็นบุคลากรที่ทรงคุณค่าเป็นผู้ที่สืบสานและรักษาอัตลักษณ์และภูมิปัญญาด้านงานศิลปหัตถกรรมไทย ให้คงอยู่และสะท้อนความเป็นไทยมาตั้งแต่อดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานหัตถกรรมที่ใกล้จะสูญหายหรือมีผู้สืบทอดน้อยราย ดังเช่น เสน่ห์อัตลักษณ์ผ้าทอไทยวน ที่ถือเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาวไทยวนที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์บ่งบอกถึงชาติพันธุ์และถิ่นกำเนิด วัฒนธรรมการทอผ้าเพื่อใช้ในงานพิธีต่างๆ แต่เมื่อกาลเวลาล่วงเลย ผ่านไป การทอผ้าอัตลักษณ์ชาวไทยวนเริ่มมีจำนวนผู้สืบสานลดน้อยลง ตัวอย่างเช่น ครูปราณีต วรวงสานนท์ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2560 และครูสุพัตรา ชูชม ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2562
ครูปราณีต วรวงสานนท์ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2560 ที่ยังคงสืบสานการทอผ้าทอไทยวนที่ใช้กรรมวิธีทอลายขวางลงไปในบริเวณส่วนกลางของผืนซิ่น (ตัวซิ่น) สามารถเปลี่ยนสีของผืนซิ่นได้ตามความต้องการของลูกค้า แต่ยังคงไว้ในส่วนหัวซิ่นกับช่วงท้ายซิ่นที่ใช้สีเหมือนกัน เป็นการอนุรักษ์รูปแบบการทอผ้าซิ่นไทยวนแบบโบราณเอาไว้ อาทิ ผ้าห่มมุก และ ผ้าห่มเสื่อ เนื่องจากรูปแบบของลายที่ใช้ทอประกอบลงไปในเนื้อผ้าทั้งสองชนิดนั้น เป็นลวดลายที่ยาก ต้องนำผ้ามุกมาทอลายยกดอก 5 ตะกอ โดยถือเป็นรูปแบบการทอผ้าซิ่นยวนโบราณไว้ได้อย่างครบถ้วน
ด้านครูสุพัตรา ชูชม ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2562 ก็เป็นอีกท่านหนึ่งที่อนุรักษ์เทคนิคการจกแบบโบราณด้วยขนเม่น หรือที่ชาวยวนเรียกว่า "ผ้าเก็บ" ซึ่งเป็นเทคนิคการจกที่มีการสืบทอดมาตั้งแต่โบราณ เป็นการจกสด ไม่มีการเก็บลายไว้ก่อน นอกจากนี้ ยังได้รื้อฟื้นชิ้นงานขึ้นใหม่ คือ "ถง" หรือ "ถุงย่ามไทยวน" ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์สำคัญที่อยู่คู่กับชาวไทยวนในยุคเชียงแสนตอนต้นมาอย่างยาวนาน
###