กทท. ผนึกกำลัง4 หน่วยงาน MOU ความร่วมมือพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว ในงานครบรอบ 20 ปี วันสถาปนากรมการท่องเที่ยว 2 ทศวรรษแห่งการมุ่งมั่น เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวไทยให้ยั่งยืน

   ในงานครบรอบ 20 ปี วันสถาปนากรมการท่องเที่ยว กรมการท่องเที่ยว(กทท.)ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว ร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.)สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) (สคช.)ในการพัฒนาและยกระดับศักยภาพของบุคลากรด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับความต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ และมีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล รวมถึงลดความซ้ำซ้อนของการดำเนินงานและบูรณาการการทำงานให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน สร้างความเชื่อมั่นและศักยภาพความพร้อมด้านการท่องเที่ยวให้ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว และการบริการที่เกี่ยวข้อง

   วันนี้(26 สิงหาคม 2565)นายทวีศักดิ์ วาณิชย์เจริญ อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวกับ 4 หน่วยงาน โดยมี นางสาวอาภากร ว่องเขตกรผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เรืออากาศโท สมพร ปานดำรองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และนายสุรพล พลอยสุขผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน)พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของทั้ง 4 หน่วยงาน เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธี ณ ห้องประชุม1 กรมการท่องเที่ยวศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารบี) ชั้น 3 ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร

    การร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรฯ ในครั้งนี้ กรมการท่องเที่ยวได้ตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน เนื่องจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้หลักให้กับประเทศไทย และมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงสร้างงานสร้างอาชีพให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวประเภทต่างๆ ให้มีความรู้ ทักษะ และศักยภาพในการปฏิบัติงานและให้บริการนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการยกระดับคุณภาพในการให้บริการด้านการท่องเที่ยว และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ซึ่งกรมการท่องเที่ยวและ 4 หน่วยงาน (กพร. สอศ. สป.อว. และ สคช.) เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย หากได้รับการส่งเสริมสนับสนุนและเชื่อมโยงภารกิจ การดำเนินงานพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันได้ จะส่งผลให้การผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวของประเทศมีคุณภาพ

   นายทวีศักดิ์ วาณิชย์เจริญ อธิบดีกรมการท่องเที่ยวกล่าวว่า ผมขอขอบคุณกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) (สคช.)ที่ให้เกียรติร่วมมือดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวเพื่อบูรณาการการทำงานให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน และผนึกกำลัง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและศักยภาพความพร้อมด้านการท่องเที่ยวให้กลับคืนมา ซึ่งในส่วนขอบเขตการดำเนินงานของทางกรมการท่องเที่ยว (กทท.) นั้น จะร่วมพัฒนามาตรฐานสมรรถนะบุคลากรด้านการท่องเที่ยว พัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน การฝึกอบรม การรับรองมาตรฐานสมรรถนะของบุคลากรแนวทางการประเมินสมรรถนะบุคลากรด้านการท่องเที่ยวตามข้อตกลง MRA on TP ร่วมพัฒนาฐานข้อมูลบุคลากรและทักษะความต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และร่วมกันกำหนดแนวทางการเทียบเคียงคุณวุฒิการศึกษากับสมรรถนะในการปฏิบัติงานตามมาตรฐานอาชีพ นอกจากนี้ ยังมีการบูรณาการการทำงานโดยใช้ทรัพยากรร่วมกัน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุด รวมถึงลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงานที่ผ่านมาของแต่ละหน่วยงานด้วยโดยเชื่อมั่นว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะทำให้การพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวของประเทศ มีคุณภาพ และเป็นเอกภาพตรงตามความต้องการของนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการ สร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยว และรองรับนักท่องเที่ยวทั่วโลกได้ในอนาคต  

     นอกจากนี้ ในปี 2565 กรมการท่องเที่ยว ได้พลิกโฉมรับการท่องเที่ยววิถีใหม่ (New Normal) ภายหลังวิกฤตโควิด-19 มุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างทั่วถึง สมดุล และยั่งยืนภายใต้โมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ (BCG Model) ด้วยแนวคิด DOT : Step up to New Chapter ก้าวไปสู่บทใหม่ที่ท้าทายด้วย 5 องค์ประกอบหลัก ทั้งการพัฒนาองค์กรด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) การบูรณาการใช้เทคโนโลยีเพื่อบริการประชาชน (Innovation) การสร้างเครือข่าย ( Networking) และความเป็นมืออาชีพ (Professional) เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว รวมถึงจัดทำมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เน้นความสะอาด ปลอดภัย เป็นธรรม เพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

   อธิบดีกรมการท่องเที่ยวกล่าวทิ้งท้ายว่า เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี หรือ 2 ทศวรรษแห่งวันสถาปนากรมการท่องเที่ยวในปีนี้ (28 สิงหาคม 2565)กรมการท่องเที่ยวได้มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาของประชาชนและสังคมจำนวนมาก ซึ่งงานหลายอย่างได้กลายเป็นต้นแบบให้กับหน่วยงานหรือพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในด้านสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว สิ่งอำนวยความสะดวกในแหล่งท่องเที่ยว และแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบ ด้วยศักยภาพของบุคลากรของกรมการท่องเที่ยวที่มีความรู้ความสามารถ มีความพร้อมที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวให้สมบูรณ์
และยั่งยืน พร้อมทั้งทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติอย่างเต็มที่ในทุกมิติ

###