วช. หนุนประเทศไทยไร้ขยะ ให้ทุนวิจัยทีมจุฬาฯสร้างฐานข้อมูลจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ฯ
วช.หนุนประเทศไทยไร้ขยะ ให้ทุนทีมจุฬาฯ สร้างฐานข้อมูลการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ฯ ที่สามารถนำไปสู่การกำหนดนโยบายการจัดการซากผลิตภัณฑ์ ที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ อย่างเป็นรูปธรรม
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาขยะจากซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่เพิ่มขึ้นตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งขยะเหล่านี้ยังขาดการจัดการที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ปัญหาดังกล่าว กรมควบคุมมลพิษและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องพยายามผลักดันกฎหมายที่ใช้กำกับและดูแลการจัดการซากผลิตภัณฑ์ทั้งระบบ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยให้กับโครงการ “แผนงานวิจัยท้าทายไทย : การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และของเสียอันตรายชุมชน ระยะที่ 2” ภายใต้แผนงาน Zero Waste Thailand (ประเทศไทยไร้ขยะ) ซึ่งมี รศ.ดร.สุธา ขาวเธียร จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อสร้างฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และของเสียอันตรายชุมชน รวมทั้งการจัดการซากผลิตภัณฑ์ของรัฐและชุมชนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำไปกำหนดนโยบายการจัดการซากผลิตภัณฑ์ได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
รศ.ดร.สุธา ขาวเธียร จากศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย (ศสอ.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการคาดการณ์ปริมาณซากผลิตภัณฑ์ฯ จากชุมชนในปี 2563 พบว่ามีปริมาณ 428,000 ตัน/ปี กว่า 70 % เป็นซากผลิตภัณฑ์ 5 ชนิด คือ ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์ โทรศัพท์ และ คอมพิวเตอร์ ซึ่งซากผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ยังถูกเก็บไว้ในครัวเรือน ยังไม่ได้รับการจัดการ และอีกส่วนหนึ่งถูกจัดการด้วยกลุ่มรับซื้อของเก่าและผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมาย จากปัญหาดังกล่าวจะเห็นได้ว่าประเทศไทยยังขาดการจัดการซากผลิตภัณฑ์ ที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ แผนงานวิจัยฯ จึงได้ทำการศึกษาและรวบรวมข้อมูลการจัดการซากผลิตภัณฑ์ อย่างต่อเนื่องจากแผนงาน การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และของเสียอันตรายชุมชน ระยะที่ 1 ซึ่งศึกษาและรวบรวมฐานข้อมูลการจัดการซากผลิตภัณฑ์ ทั้งระบบ ครอบคลุมตั้งแต่ผู้บริโภคจนถึงปลายทางการกำจัด และได้นำมาต่อยอด บูรณาการสร้างเป็นฐานข้อมูลที่สามารถนำไปสู่การวางแผนและกำหนดนโยบายการจัดการซากผลิตภัณฑ์อย่างเหมาะสม รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนข้อมูลในการออกกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ จากผลการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคในการจัดการซากผลิตภัณฑ์ พบว่า ผู้บริโภคมีการยืดอายุผลิตภัณฑ์ขนาดใหญ่ จึงมีผลต่อปริมาณซากผลิตภัณฑ์ ที่เข้าสู่ระบบ เช่น เครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า ซึ่งมีอายุการใช้งานมากกว่า 10 ปี ถึงเข้าสู่กระบวนการซ่อมแซม และเรียกคนมารับซื้อซากผลิตภัณฑ์ที่บ้าน ส่วนซากผลิตภัณฑ์ขนาดเล็ก เช่น คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก โทรศัพท์มือถือ และแท็บเล็ต จะมีอายุการใช้งาน 4-5 ปี ส่วนใหญ่ซากผลิตภัณฑ์จะยังถูกเก็บไว้ในบ้าน ดังนั้นเพื่อให้เกิดระบบการจัดการ จำเป็นต้องมีมาตรการจูงใจให้เกิดการยอมรับ หรือ Willingness To Accept เพื่อดึงซากผลิตภัณฑ์เข้าสู่ระบบ จากนั้นซากผลิตภัณฑ์ ที่ถูกรวบรวมจากบ้านเรือนจะถูกส่งต่อเข้าสู่กระบวนการรื้อแยกและรีไซเคิล
สำหรับกระบวนการรื้อแยก สามารถแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ คือ การรื้อแยกโดยกลุ่มรับซื้อของเก่าและผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายหรือ Informal Sector และการรื้อแยกโดยโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตถูกต้อง หรือ Formal sector ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่า การรื้อแยกทางกายภาพของทั้ง 2 รูปแบบไม่แตกต่างกัน เช่น ผลของการรื้อแยกโทรทัศน์ได้วัสดุมีค่าประมาณ 30-40 % และมีเศษวัสดุเหลือทิ้งประมาณ 60-70 % ทั้งนี้วัสดุที่ได้จากการรื้อแยกซากผลิตภัณฑ์ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีการรีไซเคิลในประเทศ ส่วนการรีไซเคิลแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ด้วยวิธีการทางเคมีอาจต้องดำเนินการในกลุ่มของโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตถูกต้องเท่านั้น เนื่องจากเป็นกระบวนการที่ทำให้ได้โลหะที่มีค่า เช่น เงิน ทอง และพาลาเดียม แต่จะมีความเสี่ยงต่อสุขภาพเพราะจะได้โลหะที่เป็นพิษมาด้วย เช่น โครเมียม อาร์เซนิก ตะกั่ว และแคดเมียม
รศ.ดร.สุธา กล่าวว่า จากผลการศึกษาทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการจัดการซากผลิตภัณฑ์โดยในระยะแรกควรมีมาตรการในการดึงทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการซากผลิตภัณฑ์ ร่วมกับการผลักดันให้มีการออกกฎหมายการจัดการซากผลิตภัณฑ์ ทั้งระบบโดยเฉพาะ และส่งเสริมให้มีการนำซากผลิตภัณฑ์ เข้าสู่ระบบการจัดการอย่างถูกต้อง เพื่อลดการเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด รวมทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดการซากผลิตภัณฑ์ ทั้งระบบ ควรตระหนักและมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการจัดการซากผลิตภัณฑ์ของตนเอง
อย่างไรก็ตาม การรับผิดชอบการจัดการซากผลิตภัณฑ์ระหว่างผู้ผลิต และผู้โภคควรใช้กลไกผสมผสานทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจ ในส่วนของกระบวนการรวบรวมซากผลิตภัณฑ์ ควรตั้งจุดรวบรวมซากผลิตภัณฑ์ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ควรมีการสนับสนุนงบประมาณในการจัดตั้งศูนย์รวบรวมซากผลิตภัณฑ์ สู่ท้องถิ่นที่มีความพร้อมและศักยภาพ และควรพัฒนาระบบแพลตฟอร์มการติดตามซากผลิตภัณฑ์ ตลอดกระบวนการขนส่ง อีกทั้งควรมีการยกระดับผู้รวบรวมและผู้รื้อแยกที่เป็นกลุ่มรับซื้อของเก่าและผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง โดยอาจต้องมีการนำกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงมาบังคับใช้ร่วมด้วย เช่น ประกาศกระทรวงเรื่องกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เป็นต้น
###