วช. หนุน สทน. และ ม.นเรศวร เปิดตัวส้มโอ ฉายรังสี ก่อนส่งออกไปสหรัฐอเมริกา
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้สนับสนุนทุนวิจัยให้กับสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สทน. และมหาวิทยาลัยนเรศวร แก่โครงการ “การศึกษาผลของการฉายรังสีต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวมะม่วงมหาชนกและส้มโอเพื่อการส่งออกประเทศสหรัฐอเมริกา” เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์การดำเนินกิจกรรมของโครงการวิจัยและช่วยเผยแพร่กิจกรรมฉายรังสีผลไม้เพื่อการส่งออกของประเทศไทยให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้ทราบอย่างทั่วถึง จึงได้จัดกิจกรรมเพื่อแนะนำและชิมส้มโอภายในงานประชุมระหว่างประเทศ International Meeting on Radiation Processing ครั้งที่ 20 (IMRP20) ขึ้น ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 เวลา 13.00-14.30 น. ณ ห้อง Air โรงแรมอวานี พลัส ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ หัวข้อหลักส่วนหนึ่งของการประชุมเป็นเรื่องเกี่ยวกับการฉายรังสีเพื่อสุขอนามัยพืช (Phytosanitary Irradiation Forum) โดยเป็นงานประชุมชั้นนำที่จัดขึ้นเป็นเป็นประจำทุก 2-3 ปี เพื่อให้นักวิชาการและผู้ประกอบการในแวดวงเทคโนโลยีการฉายรังสีจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้มาพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านวิชาการและหารือในธุรกิจการฉายรังสีรวมไปถึงการสร้างเครือข่ายแก่กัน ในปีนี้มีผู้เข้าร่วมงาน 350 คน จาก 41 ประเทศทั่วโลก
รศ.ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท นักวิจัย จากมหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 สหรัฐอเมริกาได้อนุญาตให้นำเข้าผลไม้สด (fresh fruit) ของไทย 7 ชนิด ได้แก่ มะม่วง ลำไย มังคุด ลิ้นจี่ เงาะ และสับปะรด โดยจะต้องได้รับการฉายรังสีก่อนส่งออกไปยังสหรัฐฯ นับเป็นการเปิดตลาดผลไม้ไทยที่สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ประเทศชาติ ต่อมาในปี พ.ศ. 2562 ทีมวิจัยซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) BEDO มหาวิทยาลัยนเรศวร และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ได้ประสบผลสำเร็จในการวิจัยเรื่องคุณภาพของมะม่วงฉายรังสี จนกระทั่งสามารถส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองให้ได้คุณภาพมาตรฐานสู่ตลาดสหรัฐอเมริกาได้อย่างเต็มภาคภูมิ ได้รับการรับรองจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกาและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค และในปัจจุบันทางสหรัฐอเมริกาได้ออกกฏระเบียบเพิ่มเติมให้ไทยสามารถส่งออกส้มโอผลสดได้ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 จึงเกิดเป็นโจทย์วิจัยที่ท้าทายและรอคำตอบจากนักวิจัยไทยเป็นอย่างยิ่ง ปัจจุบันคณะผู้วิจัยได้ดำเนินการทำ dose mapping เพื่อเตรียมการส่งออกส้มโอผลสดไปสหรัฐอเมริกา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการกระจายของรังสีในบรรจุภัณฑ์ส้มโอและปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพหลังการฉายรังสีแกมมา เพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของทางสหรัฐอเมริกา ผลการทำ dose mapping ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2565 ขณะนี้กำลังรอให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน Animal and Plant Health Inspection Service (APHIS) จากกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกามาร่วมดำเนินการกับเจ้าหน้าที่จากกรมวิชาการเกษตรรับรองผลอีกครั้งโดยเร็วที่สุด จากนั้นผู้ประกอบการไทยจะสามารถส่งออกส้มโอผลสดได้ทันที
โดยคณะผู้วิจัยมีโครงการจะนำส้มโอฉายรังสีไปจัดแสดงในงาน Natural Products Expo West 2023 ณ เมืองอนาไฮม์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในระหว่างวันที่ 7-11 มีนาคม พ.ศ. 2566 ที่จะถึงนี้ด้วย การจัดกิจกรรมแนะนำและชิมส้มโอภายในงานประชุมระหว่างประเทศ International Meeting on Radiation Processing ในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีในการเผยแพร่ให้ต่างชาติได้รู้จักส้มโอผลสดของไทยให้มากยิ่งขึ้นเพื่อให้สามารถต่อยอดในทางธุรกิจต่อไป
ดร.หาญณรงค์ ฉ่ำทรัพย์ รองผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า การฉายรังสีโดยทั่วไปคือการเตรียมใส่กล่อง การฉายรังสี และขั้นตอนหลังการฉายรังสี การเตรียมใส่กล่องมันขึ้นอยู่ว่าส่งไปประเทศไหน และประเทศนั้นต้องการอย่างไร ในกรณีออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ต่างกัน ถ้าเป็นอเมริกาต้อง 9-10 ลูกต่อกล่อง ซึ่งขนาดกล่องจะขึ้นอยู่กับผลส้มโอ เมื่อได้กล่องตามที่อเมริกาต้องการแล้ว จึงนำเข้าฉายรังสี ขั้นตอนการฉายรังสีในขั้นตอนที่ 2 เป็นการฉายรังสีแกมมา electron beam และรังสีเอ็กเรย์ อเมริกาให้ฉายได้ทุกรังสี ขึ้นอยู่ที่เราจะใช้รังสีไหน แต่ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาให้ใช้รังสีแกมม่า ดังนั้นเมื่อเตรียมเสร็จก็จะใส่เข้าไปในตู้คอนเทนเนอร์ ที่มีรังสีแกมมา ตรงนี้เป็นกระบวนการที่อเมริกาบอกว่าประเทศไทยจะต้องใช้รังสี 400 เกรย์ ถึงจะฆ่าเชื้อได้ หลังจากฉายรังสี สิ่งที่ต้องทำเลยคือนำออกจากเครื่อง และนำขึ้นรถเข้าห้องเย็น พร้อมส่งออกเลย ระหว่างการขนส่งห้ามเปิดเด็ดขาด ถ้าเปิดจะถูกตีกลับหมด สำหรับ อาหาร ผลไม้ทุกชนิด ที่ได้ฉายรังสีจะมีตราดอกไม้สีเขียวอ่อน ที่เรียกว่า radura ต้องติดว่าให้ผู้บริโภครู้ว่าผ่านการฉายรังสีฆ่าเชื้อมาแล้ว
###