วช. พาเยาวชนสร้างสรรค์ผลงานประดิษฐ์คิดค้นในคาราวานวิทยาศาสตร์ อพวช. ครั้งที่ 5
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ในงาน "คาราวานวิทยาศาสตร์ อพวช." จัดโดย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และโอกาสในการเข้าถึงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่เยาวชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนในระดับภูมิภาค ในลักษณะของพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์เคลื่อนที่ โดยกำหนดจัดทั้งหมด 11 ครั้ง ในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ซึ่งครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 20 - 23 ธันวาคม 2565 ณ โรงเรียนนิยมศิลป์อนุสรณ์ อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์
ซึ่งในครั้งนี้ วช. ได้นำผลงานเข้าร่วมกิจกรรมมากมาย ได้แก่
- กระเป๋าดอกไม้ลอยได้ การผลิตกระเป๋าผ้า โดยใช้เทคนิคทางวิทยาศาสตร์ความเป็นกรดจากน้ำส้มสายชู และความเป็นด่างจากสารส้มเป็นกระบวนการพิมพ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- ระบายสีพันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อฝึกสมาธิ และเข้าใจพันธุ์ศาสตร์สัตว์น้ำ
- ระบายสีกายวิภาคสัตว์บก เพื่อเรียนรู้โครงสร้างกายวิภาคสัตว์เศรษฐกิจไทย
- มหัศจรรย์พรรณไม้ การจัดทำ post card จากพรรณไม้แห้งนานาชนิด
- การออกแบบและติดตั้งระบบไฟฟ้า เป็นการเรียนรู้การต่อวงจรไฟฟ้า
- กิจกรรมต่อ เติม แต่ง บ้านในฝัน การฝึกประกอบบ้านจากกระดาษ เสริมทักษะจินตนาการ
- กิจกรรมวาด (เกือบ) เหมือน เป็นศิลปะบำบัดให้นักเรียนได้ลองวาดรูปตัวเองแบบง่ายๆ
- นิทรรศการมหัศจรรย์ plant tissue culture จากพรรณไม้ตระกูลกล้วยไม้ เช่น หม้อข้าวหมอแกงลิง และเอื้องผึ้ง เป็นต้น
- นิทรรศการหอยเชอรี่สีทอง
- นิทรรศการการแปรรูปจากขมิ้นชัน เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม
โดย คณะเทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ ได้ให้เกียรติเป็นวิทยากรในการจัดกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งได้รับความสนใจแก่เยาวชนที่เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
สำหรับงาน "คาราวานวิทยาศาสตร์ อพวช." มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2565 - กุมภาพันธ์ 2566 โดย วช. จะร่วมนำผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ไปจัดแสดงและฝึกอบรมให้กับเยาวชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนผู้สนใจในครั้งต่อ ๆ ไปอีก 6 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดระยอง จังหวัดชลบุรี จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดกระบี่ เพื่อให้เยาวชนเกิดองค์ความรู้ ทักษะและแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานประดิษฐ์คิดค้นในอนาคตต่อไป
###