วช. ร่วมมือ สสวท. จัดสาธิตบอร์ดเกม “Food Web” เกมกระดานเพื่อการเรียนรู้ระบบนิเวศ ส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยความสนุกท้าทาย โดนใจวัยช่างคิด ในงานวันนักประดิษฐ์ 2566
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมมือกับ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับนวัตกรรมการเรียนรู้การศึกษาแห่งอนาคต เรื่องการพัฒนาและการใช้งาน สื่อการ์ดเกมเพื่อการเรียนรู้ ผ่านเกมกระดานเพื่อการเรียนรู้ระบบนิเวศ “Food Web” ในงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566” ระหว่างวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ นี้
วันนี้ (3 ก.พ.) โครงการนวัตกรรมการเรียนรู้สู่การศึกษาแห่งอนาคต เรื่อง การพัฒนาและการใช้งานสื่อการ์ดเกมเพื่อการเรียนรู้ โดย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) หนึ่งในกิจกรรมที่น่าสนใจในงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566”
ดร.ยศินทร์ กิติจันทโรภาส สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ได้นำ Food Web บอร์ดเกมสนุกๆ จากหนังสือเรียนของ สสวท. เกี่ยวกับห่วงโซ่อาหารมาให้ทุกคนได้รู้จักและทดลองเล่นกัน การพัฒนาและการใช้สื่อเกมเพื่อการเรียนรู้ ความหมาย ข้อดีและข้อจํากัด การพัฒนาเกมเพื่อการเรียนรู้ การใช้สื่อเกมเพื่อการเรียนรู้ เกมเพื่อการเรียนรู้ เป็นสื่อการเรียนรู้รูปแบบหนึ่ง
บอร์ดเกม ว่าเป็นเกมที่ผู้เล่นได้มีปฏิสัมพันธ์กันภายใต้กติกาที่ชัดเจน อาจมีการใช้วัสดุอุปกรณ์หลายอย่างประกอบการเล่น เช่น ลูกเต๋า กระดาน การ์ดและเบี้ย เกมเพื่อการเรียนรู้คือ สื่อการเรียนรู้รูปแบบเกม ที่ผู้เรียนจะได้รับความรู้ผ่านการเล่นเกม ออกแบบโดยจำลองมาจากสถานการณ์จริง เพื่อให้ผู้เรียนทดลองแก้ปัญหา ทำให้ได้รับประสบการณ์เกิดจินตนาการ และเข้าใจสิ่งที่เป็นนามธรรมง่ายยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ข้อจํากัดคือเป็นสื่อที่ต้องใช้ความเข้าใจ ถ้าวิธีเล่นซับซ้อนเกินไปทําให้ผู้เรียนไม่เข้าใจจนรู้สึกไม่อยากเล่น ถ้าเน้นการแข่งขันจนเกินไปอาจทําให้ผู้เรียนไม่ได้สนใจเนื้อหาที่เกมต้องการจะสื่อ การประเมินความเข้าใจผู้เรียนมักจะมาจากผลงานของกลุ่ม ใช้เวลานานในการออกแบบและทดสอบเมื่อเทียบกับสื่ออื่นที่มีอยู่แล้ว
“เกมกระดาน food web เป็นเกมที่ผู้เล่นจะได้เรียนรู้เรื่องระบบนิเวศผ่านการสร้าง ดูแล และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสายใยอาหารภายใต้สถานการณ์รบกวนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระบบนิเวศ นอกจากนี้ความสนุกที่ผู้เล่นจะได้รับแล้ว ยังปลูกจิตสำนึกให้เห็นถึงความสำคัญของสิ่งมีชีวิต สิ่งแวดล้อม และสมดุลของระบบนิเวศ” ดร.ยศินทร์ กล่าว
ทั้งนี้ “วันนักประดิษฐ์” สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในฐานะหน่วยงานกลางด้านการวิจัยและการประดิษฐ์ ร่วมกับ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรด้านการวิจัยและการประดิษฐ์คิดค้นนานาชาติ ร่วมมือกันสร้างสรรค์ผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นเพื่อสนับสนุนผลงานสู่การสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับนักประดิษฐ์ นักวิจัยไทยพร้อมก้าวสู่เวทีในระดับโลก การจัดงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566” (Thailand Inventors’ Day 2023) ภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม” ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 24 เพื่อน้อมรำลึกถึงวันประวัติศาสตร์ การทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” แด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” และยังเป็นเวทีสำคัญระดับชาติและนานาชาติ ที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของคนไทย ในด้านการประดิษฐ์คิดค้นต่อการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพออกสู่สายตาคนไทยและประชาคมโลก ในปีนี้มีสิ่งประดิษฐ์คิดค้นจากนักประดิษฐ์ไทยและนานาชาติส่งผลงานเข้าร่วมกว่า 1,000 ผลงาน บนพื้นที่กว่า 17,000 ตารางเมตร
ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมชมงาน “วันนักประดิษฐ์ 2566” (Thailand Inventors’ Day 2023) ได้ระหว่างวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 09.00-17.00 น. ณ อีเวนท์ ฮอลล์ 100-102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา หรือ สามารถชมงานผ่านระบบออนไลน์ ได้ที่ http://inventorsdayregis.com
###