CEA ผนึกเครือข่ายเปิด 3 พื้นที่สร้างสรรค์ใน กทม. พลิกโฉมใหม่หัวลำโพง-วังเก่าสมมตอมรพันธ์-สวนเบญจกิติ หวังกระตุ้นคนรุ่นใหม่เข้าถึงศิลปะร่วมสมัย ด้าน กทม. พร้อมสนับสนุนเป็นพื้นที่ต้นแบบ

   สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับภาคีเครือข่าย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กรุงเทพมหานคร สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB และ การรถไฟ แห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมเปิดโปรแกรมต่อเนื่องภายใต้โครงการ “UNFOLDING BANGKOK” สัมผัสประสบการณ์และมุมมองใหม่ของกรุงเทพมหานคร ใน 2 โปรแกรมสุดท้าย ภายใต้ธีม ‘Living Old Building’ ณ สถานีรถไฟหัวลำโพง ระหว่างวันที่ 18 - 26 มีนาคม 2566 และวังกรม พระสมมตอมรพันธ์ ระหว่างวันที่ 25 มีนาคม - 2 เมษายน 2566 และ ‘Greeting Benjakitti’ ณ สวนป่าเบญจกิติ ช่วงระหว่างวันที่ 18 มีนาคม - 30 กันยายน 2566 คาดกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท พร้อมต่อยอดการใช้ ‘ความคิดสร้างสรรค์’ และ ‘เทคโนโลยี’ ให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศสร้างสรรค์ ผลักดันพื้นที่สร้างสรรค์ทั่วประเทศต่อไป

   ดร. อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า โครงการ “UNFOLDING BANGKOK เปิดประสบการณ์ใหม่กรุงเทพมหานคร” นับเป็นความสำเร็จ ของการดำเนินโครงการฯ ในการพัฒนาแพลตฟอร์มพื้นที่สร้างสรรค์ สู่การท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ โดย CEA ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชุมชน นำทุนวัฒนธรรม วิถีชีวิตดั้งเดิมมาสู่การออกแบบที่ คงอัตลักษณ์ผสมกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยสร้างสรรค์พื้นที่และย่านต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร เพื่อ ยกระดับเศรษฐกิจชุมชน รวมไปถึงแหล่งท่องเที่ยวที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาสู่ความยั่งยืน เน้นการกระจายรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการสร้าง ‘ซอฟพาวเวอร์’ การท่องเที่ยว และวัฒนธรรมไทยให้เป็นที่แพร่หลายในวงกว้าง

   โดยเชื่อว่าหลังจากที่มีการนำเสนอข่าวไปแล้ว จะทำให้ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่จะมีการเปิดไฟแสดงแสงสีเสียงที่ถือเป็นไฮไลน์ ซึ่งถือเป็นการเปิดประตูเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวหลังผ่านพ้นสถานการณ์โควิด -19 ส่วนเหตุผลว่าทำไมต้องจัดหัวลำโพง นั่นก็เพราะมีอายุยาวนานกว่า 107 ปี ที่มีสถาปัตยกรรมที่ยังคงอยู่ ทำให้สามารถผสมผสานแสดงสีเสียงเพื่อชวนให้สถานที่สำคัญแห่งนี้มีมุมมองในมิติใหม่ๆ

   ดร.ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า คาดหวังว่าการจัดกิจกรรมครั้งนี้จะสามารถเรียกให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ เดินทางเข้ามาชมบรรยากาศของสถาปัตยกรรมผ่านแสงสีเสียงที่บอกเล่าเรื่องเล่าได้อย่างทันสมัย เหมาะสมกับคนทุกกลุ่ม

   สำหรับกิจกรรม Unfolding Bangkok คือกิจกรรม ‘Living Old Building’ ย้อนรอยอาคารประวัติศาสตร์ในกรุงเทพฯ โดยการนำพื้นที่อาคารที่มี คุณค่าทางศิลปะและประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นการใช้อาคารเก่ามาปรับปรุงและนำมาอนุรักษ์ ด้วยการสร้างความโดดเด่นเน้นเอกลักษณ์ในการออกแบบด้านสถาปัตยกรรมได้แก่

1. สถานีรถไฟหัวลำโพง โดยได้รับความร่วมมือจาก รฟท. ผ่านการออกแบบแสงสี นิทรรศการรถไฟจำลอง ตลาด กิจกรรมแสดงดนตรี กิจกรรมวาดรูป และ ลีลาศ เป็นต้น โดยการออกแบบแสงสี ภายใต้คอนเซ็ปต์ “THE WALL 2023 : UNFOLDING HUA LAM PHONG” ผลงานของกลุ่มนักออกแบบแสง Lighting Designers Thailand และ DecideKit แบ่งออกเป็น 3 โซนดังนี้

   1. The Door เป็นโซนแรก ที่จัดแสดงบนกระจกโค้งด้านบนบริเวณประตูทางเข้า สถานีรถไฟหัวลำโพง ซึ่งเป็นจุดเด่นที่สำคัญและเป็นฉากแรกของการเดินทางเข้าสู่ภายใน

 

   2. The People การจัดแสดงที่อยู่ภายในโถงของสถานี จุดศูนย์รวมของผู้คนในการเดินทาง เปลี่ยนสถานที่พักคอยของผู้คนที่เรียบง่าย สู่การแสดงแสงไฟ การแสดงดนตรี และ จุดซื้อขายอาหาร ทั้งข้าวผัดรถไฟ ข้าวเหนียวหมูเค็ม ซึ่งเป็นอาหารประจำของ ผู้ใช้บริการโดยสารรถไฟเป็นที่รู้จักกันทั่วไป การแสดงนิทรรศการรถไฟจำลอง ซึ่ง การจัดกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้พื้นที่ย่านสถานีรถไฟหัวลำโพง กลับมาครึกครื้น มีชีวิตชีวา อีกครั้ง จากบริบทใหม่ของสถานีรถไฟ ทำให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ที่สำคัญ ของกรุงเทพอีกแห่งหนึ่ง

 

   3. The Emotion การจัดแสดงการออกแบบแสงไฟภายในชานชาลา เรียกคืนความรู้สึกใน การพบและจาก หรือการออกเดินทางครั้งใหม่ ต่างเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก ที่หลากหลาย และการแสดงหัวรถจักรไอน้ำที่ถูกใช้งานในช่วงยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 มาแล้ว แต่ยังคงความสมบูรณ์ไว้ได้ ผ่านการจัดแสงสี นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปสัมผัส การทำงานของหัวรถจักรไอน้ำได้อย่างใกล้ชิด

2. อาคารวังกรมพระสมมตอมรพันธ์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 มีนาคม - 2 เมษายน 2566 เป็นอาคาร เก่าทางประวัติศาสตร์ที่ถูกซุกซ่อนอยู่ภายในชุมชนวังกรมพระสมมตอมรพันธ์ ซึ่งยังคงความสมบูรณ์ แบบของสถาปัตยกรรมและความงดงาม ในยุคสมัยที่นิยมสร้างอาคารโดยนำวัฒนธรรม ตะวันตกมาใช้ในการออกแบบ โดย CEA ได้ร่วมมือกับ Urban Ally และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้นำพื้นที่แห่งนี้มาเปิดให้นักท่องเที่ยวได้ชมความงาม พร้อมบอกเล่าเรื่องราว ทางประวัติศาสตร์และชุมชนโดยรอบที่เคยเป็นแหล่งผลิตเครื่องสังฆภัณฑ์ใหญ่ของกรุงเทพฯ จนถึงปัจจุบัน

   ขณะเดียวกันยังมีการจัดกิจกรรมต่อเนื่อง ‘Greeting Benjakitti’ งานศิลป์กลางสวนป่า ทั้งการจัดแสดงผลงานจัดวาง (Art Installation) จำนวน 5 ชิ้นงาน ศิลปะการแสดง (Performing Art) และกิจกรรมเวิร์กช็อปต่าง ๆ ระหว่างวันที่ 18 มีนาคม - 30 กันยายน 2566 มีผลงานจัดแสดงดังนี้

   1. The Center of the Universe โดย อรรถพร คบคงสันติ ที่ได้แรงบันดาลใจจากกล้องคาไล โดสโคปด้วยดีไซน์ใหม่ เป็นการสร้างแสงสีและมิติที่หลากหลาย ช่วยส่งเสริมในการมองสวน เบญจกิติในมุมมองที่แปลกใหม่ ตามช่วงเวลาและทิศทางในการมองของแต่ละคน

 

   2. Stingless Bee City โดย วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ ออกแบบเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยใจกลางเมือง ของผึ้งชันโรง สะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งธรรมชาติ

 

   3. Hornbill Villa โดย นีโน่ สุวรรณี สาระบุตร ผลงานจัดแสดงเครื่องปั้นดินเผาจำนวน 200 ชิ้น เพื่อเป็นรังเทียมให้แก่นกเงือก ศิลปินได้ร่วมกับชุมชนช่างปั้นครกดินเผา จังหวัดนครพนม ในการรังสรรค์ชิ้นงาน เพื่อสร้างความตระหนักรู้และความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ

 

   4. The Circle Biogenesis 2023 โดย สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ การจัดแสดงผลงานโดยการนำ ต้นข้าวมาเรียงเป็นวงกลม แสดงสัญลักษณ์ของเวลาที่สัมพันธ์กับการโคจรของดวง อาทิตย์ที่เปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นอาหารหล่อเลี้ยงผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสง

 

   5. House of Silence โดย สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ ศิลปะการออกแบบพื้นที่ที่เหมือนกับบ้าน โดยเปิดให้ผู้เข้าชมได้มีเวลาอยู่กับตัวเองและสังเกตการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมรอบตัว ระหว่างการมีอยู่ของสรรพสิ่งกับความว่างเปล่าภายนอกและความรู้สึกภายในจิตใจ

   นอกจากนี้ ยังมีการจัดศิลปะการแสดง (Performance Art) และเวิร์กช็อป โดย CEA ได้ร่วมกับสมาคมการค้าส่งเสริมอุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และเครือข่ายพันธมิตร ภายใต้แนวคิด “COHABITAT” สะท้อนการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล สร้างสรรค์ และเป็นมิตร ระหว่างผู้คนกับธรรมชาติ ให้ผู้ร่วมงานมีส่วนร่วมกับการสำรวจพื้นที่สวนป่า สิ่งแวดล้อม เพลิดเพลินกับโปรแกรมดนตรี เต้นรำ โรงละคร บทกวี การแสดงตลก และเวิร์กช็อปศิลปะ

   ขณะที่นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่า กทม. กล่าวว่า กทม.มีพื้นที่และอาคารที่มีความสำคัญ และมีสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจหลายแห่ง จึงมองว่าการที่ได้ผู้เชี่ยวชาญอย่าง CEA มาจัดกิจกรรมครั้งนี้ทำให้เราได้เห็นต้นแบบที่จะสะท้อนสถาปัตยกรรมในมุมมองที่ทันสมัยมากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงศิลปะร่วมสมัยได้มากขึ้น ซึ่งในอนาคต กทม. ก็อาจจะต้องขอความร่วมมือจากหลายภาคส่มนเพื่อมาช่วยเสริมในจุดนี้

   นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า ปีนี้ รฟท. จะมีอายุครบ 126 ปี ในวันที่ 26 มี.ค. นี้ รฟท. ได้เดินผ่านช่วงเวลาต่าง ๆ ที่สำคัญของประเทศตลอดระยะเวลาที่ ผ่านมา โดยมุ่งมั่นพัฒนาการให้บริการมาอย่างต่อเนื่อง การเข้าร่วมกิจกรรม ‘Living Old Building’ ครั้งนี้ยังถือเป็นส่วนหนึ่งในการจัดกิจกรรมเพื่อร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 126 ปีของ รฟท. อีกทั้งยังเป็นแลนด์มาร์กที่มีเสน่ห์ แห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ เป็นอาคารย้อนรอยประวัติศาสตร์ในกิจกรรม ‘Living Old Building’ ของ CEA ในครั้งนี้เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยว วัฒนธรรมความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมต่าง ๆ และส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์ แนวคิด แนวทาง รวมถึงการพัฒนาเพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะย่านเศรษฐกิจสำคัญ ๆ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล หรือแม้แต่ในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อช่วยสร้างรายได้ให้แก่ ประชาชนได้อยู่ดีกินดีอย่างทั่วถึงและยั่งยืน

###