วช. หนุน ม.นเรศวร ขยายพันธุ์ทุเรียนด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อการอนุรักษ์พันธุกรรมทุเรียนหลงลับแล หลินลับแล และพื้นเมืองคุณภาพดีในเขตภาคเหนือตอนล่าง

   สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้กลุ่มสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมโครงการวิจัยของ “รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท” และคณะ แห่งคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ได้ดำเนินงานวิจัยซึ่งได้รับการสนับสนุนโดย วช. ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ในการศึกษาการขยายพันธุ์ทุเรียนในสภาพปลอดเชื้อด้วยเทคนิคการเพาะ เลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อให้ได้ทุเรียนที่มีลักษณะตรงตามสายพันธุ์ 100% สามารถให้ผลผลิตที่มีคุณภาพตามต้นแม่พันธุ์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขยายพันธุ์ทุเรียนในอนาคต และได้คุณภาพด้านรสชาติที่ตรงตามความต้องการผู้บริโภค

   รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท แห่งคณะเกษตรศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยนเรศวร หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้รับการสนับสนุนทุนจาก วช. ในการศึกษาวิจัยการขยายพันธุ์ทุเรียนในสภาพปลอดเชื้อด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) เพื่อการอนุรักษ์พันธุกรรมทุเรียนหลงลับแล หลินลับแล และพื้นเมืองคุณภาพดีในเขตภาคเหนือตอนล่าง เริ่มจากการคัดเลือกสายพันธุ์ทุเรียนที่มีอัตลักษณ์ในแต่ละพื้นที่ พันธุ์ทุเรียนที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจในอนาคต รวมถึงพันธุ์การค้าที่มีชื่อเสียง โดยทุเรียนที่ทำการทดลองมี 3 สายพันธุ์ ได้แก่ หลงลับแล หลินลับแล และพันธุ์พื้นเมือง และคุณลักษณะทางการเกษตรที่ดีและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค เพื่อนำมาขยายพันธุ์ด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช ทำให้สามารถเพิ่มปริมาณได้อย่างทวีคูณ ซึ่งจะส่งผลให้ทุเรียนมีคุณภาพดีสม่ำเสมอ เกษตรผู้ปลูกและผู้ประกอบการได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นอีกด้วย

   สำหรับประโยชน์ที่เกษตรกรหรือผู้ประกอบการจะได้รับในการขยายพันธุ์ทุเรียนด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ได้แก่ 1. ได้ทุเรียนที่มีลักษณะตรงตามสายพันธุ์ 100% ที่ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพตามต้นแม่พันธุ์ เช่น ลักษณะของเนื้อ รสชาติ คงอัตลักษณ์ทุเรียนชนิดนั้น ๆ เป็นต้น 2. สามารถตอบสนองความต้องการของเกษตรกรที่มีความต้องการเพาะปลูกทุเรียนที่มีปริมาณมากในท้องตลาดได้ 3. ส่งเสริมภาคธุรกิจทุเรียนของที่มีอัตลักษณ์ในแต่ละพื้นที่ ให้มีการเติบโตมากขึ้นกว่าเดิม และ 4. สามารถสร้างผลิตผลของทุเรียนได้ตรงตามสายพันธุ์และได้คุณภาพด้านรสชาติที่ตรงตามความต้องการผู้บริโภค

   ในโอกาสนี้ คณะนักวิจัยได้นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่สวนประภาพรรณ ตำบลบ้านแยง อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก เพื่อเยี่ยมผลผลิตที่ได้จากโครงการฯ โดยมี คุณเนาวรัตน์ มะลิวรรณ เกษตรกรเจ้าของสวนฯ ให้การต้อนรับและให้ความรู้เกี่ยวกับทุเรียนแก่คณะสื่อมวลชนอีกด้วย

   คุณเนาวรัตน์ มะลิวรรณ เจ้าของสวนประภาพรรณ เปิดเผยว่า ในนามของสวนประภาพรรณ ต้องขอขอบคุณทาง วช. และ รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท แห่งมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ได้นำองค์ความรู้จากงานวิจัยมาถ่ายทอดให้กับเกษตรกร ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ซึ่งงานวิจัยจาก ม.นเรศวร ได้มีส่วนช่วยให้การทำสวนทุเรียนประสบความสำเร็จ มีผลผลิตที่ดีขึ้น และสวนประภาพรรณจะเป็นต้นแบบให้กับสวนทุเรียนบริเวณใกล้เคียงได้มาศึกษาความสำเร็จจากการทำสวนทุเรียนตามแนวทางการวิจัยต่อไป

   ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ สวนประภาพรรณ ตำบลบ้านแยง อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก โทร. 099-2392299 และ 092-5239369 หรือติดตามได้ทาง Facebook Fanpage : สวนประภาพรรณ จ.พิษณุโลก

###