วช. ขับเคลื่อนนักประดิษฐ์สายอาชีวศึกษา จัดกิจกรรม “บ่มเพาะผู้จัดการโครงการสิ่งประดิษฐ์”
เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จัดกิจกรรม “บ่มเพาะผู้จัดการโครงการสิ่งประดิษฐ์” Training for Invention Manager : IM สายอาชีวศึกษา ประจำปี 2566 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของนักเรียน นักศึกษาสายอาชีวศึกษา ให้เกิดแรงจูงใจในการคิดค้นผลงานประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อใช้ในประเทศ โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงานพร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยพลังสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา” และมี นายสง่า แต่เชื้อสาย ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เข้าร่วมในพิธีเปิด ณ โรงแรมมารวย การ์เด้น กรุงเทพฯ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาคนและสังคมไทยให้เป็นรากฐานที่แข็งแกร่งของประเทศในการเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้สู่การร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาคุณภาพซีวิตและสังคม จึงร่วมกับ สอศ. วางกลไกและจัดทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนและบุคลากรของสถาบันการศึกษาได้พัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีทักษะและคุณลักษณะที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีของโลก สามารถสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่สร้างผลผลิตและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ต่อไป
นายสง่า แต่เชื้อสาย ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ดังกล่าวจะนำไปสู่การสร้างความรู้ ความเข้าใจ การสร้างแรงบันดาลใจกับทีมนักศึกษาสายอาชีวศึกษา เพื่อพัฒนาผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ที่จะเป็นกลไกหนึ่งในการพัฒนากำลังคนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม สู่การขับเคลื่อน การพัฒนาและสร้างนวัตกรรมในอนาคต
กิจกรรม “บ่มเพาะผู้จัดการโครงการสิ่งประดิษฐ์” Training for Invention Manager : IM สายอาชีวศึกษา ประจำปี 2566 ในครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 - 23 สิงหาคม 2566 โดยภายในงานมีการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับหลักการเขียนข้อเสนอโครงการสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ใน 5 ด้าน ดังนี้ 1. ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร โดย รศ.ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2. ด้านการสาธารณสุข สุขภาพ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ โดย รศ.ดร.ภาคภูมิ พาณิชยูปการนันท์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 3. ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และอุปกรณ์อัจฉริยะ โดย ศ.ดร.มิตรชัย จงเชี่ยวชำนาญ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 4. ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และ BCG Economy Model โดย ศ.ดร.ปรินทร์ ชัยวิสุทธางกูร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ 5. ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดย รศ.ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นอกจากนี้ยังมี การเสวนา เรื่อง “Invention & Innovation ที่ตอบโจทย์อนาคตไทย” อีกด้วย
###