สร้างความตระหนักรู้ความปลอดภัยจากอวกาศ ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ภายในงานสัปดาห์อวกาศแห่งชาติ

   25 ตุลาคม 2566 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงาน “สัปดาห์อวกาศแห่งชาติ” หรือ Thailand Space Week 2023 มีหัวข้อที่น่าสนใจหลากหลายหัวข้อที่เกี่ยวกับเรื่องราวอวกาศ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการเสวนาในหัวข้อ “Space Situation Awareness and Space Traffic Management's Role in National Security and Research Advancement” การตระหนักรู้เกี่ยวกับสถานการณ์อวกาศและบทบาทของการจัดการการจราจรอวกาศด้านความมั่นคงและความก้าวหน้าด้านการวิจัย ณ Plenary hall ชั้น 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร


.
   ดร.สิทธิพร ชาญนำสิน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศ จาก GISTDA กล่าวว่า ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา เทคโนโลยีอวกาศเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมหลายด้านทั้งทางด้านเศรษฐกิจพาณิชย์ อุตสาหกรรมต่างๆ รวมไปถึงความมั่นคงของประเทศ ส่งผลให้ส่งดาวเทียมหรือยานอวกาศขึ้นสู่อวกาศเพื่อใช้ประโยชน์มีจำนวนสูงขึ้นอย่างทวีคูณในทุกๆปี นอกเหนือจากนี้ยังรวมถึงชิ้นส่วนขยะอวกาศที่ลอยเคว้งอย่างไร้ทิศทางอยู่ในวงโคจรมานานนับสิบปี วัตถุอวกาศเหล่านี้มีความเร็วในการโคจรที่สูงมากจะกลายเป็นภัยคุกคามต่อดาวเทียมที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ ดาวเทียมสามารถได้รับความเสียหายหรือสิ้นสุดภารกิจได้ในทันทีและซากดาวเทียมเหล่านี้จะกลายเป็นขยะอวกาศที่เพิ่มขึ้นในอวกาศ หากจำนวนขยะอวกาศสูงขึ้นถึงจุดๆหนึ่ง จะเกิดการชนเป็นลูกโซ่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ดาวเทียมทุกดวงมีความเสี่ยงที่จะเสียหายหรือหยุดภารกิจทั้งหมดได้ เราจะไม่สามารถใช้ประโยชน์จากอวกาศได้อีกต่อไป เราเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า “Kessler syndrome” เป็นประเด็นความมั่นคงที่ทั่วโลกกำลังให้ความตระหนักเป็นอย่างยิ่ง สหประชาชาติ มีการระดมผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาแนวทางป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงที่จะขึ้น ช่วงทศวรรษที่ผ่านมาประเทศไทยเองได้รับผลกระทบเช่นกัน ตัวอย่าง ขยะอวกาศที่มีความเสี่ยงที่จะชนดาวเทียม THEOS-1 และขยะอวกาศที่ตกกลับมาสู่โลกและมีความเสี่ยงที่จะตกลงพื้นแผ่นดินไทยเพิ่มสูงขึ้น

.
   ดร.สิทธิพรฯ กล่าวต่อว่า การเสวนาในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก speaker 3 ท่านซึ่งได้แก่ 1.) Mr. Katsutoshi Kato, Director of NSPS, Cabinet Office,จากประเทศญี่ปุ่น 2.) Michael Barnes, Director Government Sales, LEOLABS,จากสหรัฐอเมริกา และJacob Ask, Space Safety Program Manager, Swedish Space Corporation,จากสวีเดน โดยมี ดร. สิทธิพร ชาญนำสิน เป็น moderator ในการเสวนาครั้งนี้ได้พูดถึงเนื้อหาสำคัญดังนี้คือ 1.)ความสำคัญ ความตระหนัก และผลกระทบจากภัยของจำนวนวัตถุอวกาศที่สูงเพิ่มมากขึ้นอย่างทวีคูณทั้งในประเทศและระดับโลก 2.)ความสำคัญของเทคโนโลยี SSA&STM ที่มีผลต่อการป้องกันและบรรเทาภัยจากวัตถุอวกาศ 3.)ขีดความสามารถเทคโนโลยีของ SSA&STM ในปัจจุบันของประเทศไทยและระดับนานาชาติ 4.)ความท้าทายของการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศเพื่อลดจำนวนขยะอวกาศในระดับนานาชาติ 5.)การพัฒนาเทคโนโลยีการจราจรไร้รอยต่อ (Seamless traffic technology) ตั้งแต่การจราจรใช้โดรน การจราจรอากาศยาน และการจราจรอวกาศ (Unmanned Traffic Management: UTM, Air Traffic Management: ATM, and Space Traffic Management: STM ) 6.)การแนวทางการวางกฎระเบียบและนโยบาย เพื่อเป็นข้อบังคับให้ผู้ปฏิบัติการดาวเทียมควบคุมและลดจำนวนขยะอวกาศ เพื่อการใช้อวกาศอย่างยั่งยืน โดยใช้แนวทางของ Long-term Sustainability of outer Space Activities หรือ แนวปฏิบัติ LTS ที่ออกโดยสหประชาชาติ และ7.)ข้อเสนอแนวหรือแนวทางปฏิบัติที่ดีสุด (Best practice) สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาเพื่อกำกับดูแลใช้อวกาศได้อย่างยั่งยืนด้วยซึ่งรวมไปถึงประเทศไทยด้วย นอกจากนี้จะเป็นประโยชน์ในการสร้างความตะหนักภัยจากอวกาศ สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และ การวางนโยบายกิจการอวกาของประเทศไทย เพื่อเป็นแนวทางให้กับประเทศไทยเพิ่มขีดความสามารถทั้งทางด้านเทคโนโลยีอวกาศและผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทย รวมไปถึงแนวทางการกำหนด กฎระเบียบและนโยบายที่เหมาะสมกับประเทศไทยใน พรบ. กิจการอวกาศ เพื่อให้ประเทศไทยมีความปลอดภัยและความมั่นคงทางอวกาศ และแนวทางส่งเสริมสนับสนุนการเกิดเศรษฐกิจอวกาศใหม่ของประเทศไทย (New space economy) ได้อย่างยั่งยืนต่อไป

###