วช. เตรียมความพร้อมนักประดิษฐ์รุ่นใหม่ในระดับอุดมศึกษา เดินหน้าบ่มเพาะและเสริมสมรรถนะด้านการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดกิจกรรมการเพิ่มศักยภาพและมาตรฐานบุคลากรอุดมศึกษา: บ่มเพาะและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ระหว่างวันที่ 29 – 31 มกราคม 2567 ณ โรงแรมมารวย การ์เด้น กรุงเทพมหานคร
ในโอกาสนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในการเปิดงาน พร้อมปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ เรื่อง “การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมฟันเฟืองหลักของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยยุคสังคมอัจฉริยะ” ในวันที่ 29 มกราคม 2567
ดร.วิภารัตน์ ได้กล่าวว่า การบ่มเพาะและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อพัฒนานักประดิษฐ์รุ่นใหม่เป็นการเสริมสร้าง ทักษะและเทคนิคด้านการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม วช.ให้ความสำคัญกับการพัฒนามาตรฐานของงาน ซึ่งการนำงานวิจัย เทคโนโลยี ประดิษฐกรรมและนวัตกรรมเข้ามาเสริมสร้างการพัฒนากำลังคนและการพัฒนาประเทศ โดยการบ่มเพาะในครั้งนี้ ยังจะเป็นเส้นทางในการสร้างแรงจูงใจให้กับนักประดิษฐ์ในระดับอุดมศึกษา และโอกาสในรับการสนับสนุนเพื่อจัดทำโครงการที่มีคุณภาพในการพัฒนาและสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศในอนาคต
กิจกรรมฯ ตลอด 3 วันนี้ ได้รับการตอบรับเข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 50 หน่วยงาน ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนกว่า 250 คน ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้ วช. ได้กำหนดกลุ่มเรื่องผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม 5 กลุ่ม ได้แก่
-การเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร
-การสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์
-การพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และอุปกรณ์อัจฉริยะ
-พลังงาน สิ่งแวดล้อม และ BCG Economy Model
-การพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์
ซึ่งการจัดกิจกรรมบ่มเพาะเพิ่มศักยภาพในนักประดิษฐ์สายอุดมศึกษานครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับความรู้และการแลกเปลี่ยนจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการพัฒนาผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมในเวทีระดับชาติและระดับนานาชาติ
โดยกิจกรรมภายในงานมีการบรรยายให้ความรู้ในหัวข้อประเด็นต่าง ๆ อาทิ
1) เรื่อง “SCAMPER ยกระดับความคิดสร้างสรรค์....สรรค์สร้างนวัตกรรม” โดย ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ เมวิจัยอาวุโส จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
2) เรื่อง “Develop & Deploy: ขับเคลื่อนนวัตกรรมด้วยระดับความพร้อมของเทคโนโลยี” โดย ศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3) เรื่อง “Innovation PITCH: สื่อสารนวัตกรรมแบบมืออาชีพ” โดย รศ.ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เป็นต้น
ทั้งนี้ กิจกรรมการเพิ่มศักยภาพและมาตรฐานบุคลากรอุดมศึกษา : บ่มเพาะและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ได้วางเป้าหมายให้กิจกรรมดังกล่าวเป็นกลไกสำคัญ ที่จะพัฒนาสมรรถนะ และเทคนิคด้านการประดิษฐ์คิดค้นและนวัตกรรมในระดับอุดมศึกษาให้สามารถพัฒนาผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ที่ตอบโจทย์และความต้องการของประเทศ
###