วช. นำเครือข่ายภาครัฐ และเอกชน Workshop สร้างประสบการณ์การออกแบบไมโครอิเล็กทรอนิกส์ มุ่งเป้าไทยเป็นฐานผลิตด้านการออกแบบ “ไมโครอิเล็กทรอนิกส์” สู่เวทีโลก
วันที่ 13 มีนาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จัดการประชุมและอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการออกแบบไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ครั้งที่ 1 (The 1st Thailand Microelectronic Design Symposium and Workshop) เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กับผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้านการออกแบบไมโครอิเล็กทรอนิกส์ในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีสู่เวทีโลก ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
โดย ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ประเด็นเป้าหมายด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม จาก วช. เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม ซึ่ง ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นางสุภาพร โชคเฉลิมวงศ์ ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 1 กล่าวรายงาน และ รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้ให้การต้อนรับ ทั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้บริหารหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมการประชุม อาทิ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประกอบการ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ประเด็นเป้าหมายด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม จาก วช. กล่าวว่า วช. ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนและพัฒนาบุคลากรหลักของประเทศโดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากรให้รองรับกับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเป้าหมายของการพัฒนาในรูปแบบศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ (HUB of talents ด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์ และได้กำหนดจัดประชุมและอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการออกแบบไมโครอิเล็กทรอนิกส์ครั้งที่ 1 (The First Thailand Microelectronic Design Symposium and Workshop) ซึ่งเป็นหนึ่งในการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนตามเป้าหมายในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (2566-2570) เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะระดับโลกนั้น ซึ่งการจัดการประชุมในครั้งนี้ได้ตระหนักถึงความสำคัญของนโยบายของรัฐบาลในการเปิดโอกาสให้ประเทศไทยเติบโตด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม เนื่องจากวิศวกรทางด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์มีความต้องการอย่างมากในตลาดโลก โดยเฉพาะในด้าน IC Design และเพื่อตอบสนองต่อความต้องการดังกล่าว งานสัมมนาและอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ได้มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะในด้านการออกแบบ IC Design ในแง่มุมของ design flow ขั้นต้น เพื่อปรับปรุงข้อมูลด้านเทคโนโลยีให้ทันสมัยและสร้างเครือข่ายการวิจัยให้มีโอกาสในการเพิ่มความร่วมมือ และสร้างการรับรู้ด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์และการออกแบบวงจรที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมแบบบูรณาการ และเกิดประโยชน์สูงสุดของประเทศ
นางสุภาพร โชคเฉลิมวงศ์ ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 1 กล่าวว่า วช. ได้บริหารจัดการแผนงานการพัฒนาศูนย์กลางกำลังคนระดับสูง (Hub of Talent) และศูนย์กลางการเรียนรู้ (Hub of Knowledge)โครงการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบวงจรไมโครอิเล็กทรอนิกส์ประเทศไทย ซึ่งเป็นศูนย์ที่ก่อตั้งเพื่อรวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์ พัฒนากำลังคน และสร้างเครือข่ายการทำงานแบบเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย ภาครัฐ และอุตสาหกรรม ดังนั้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทางด้านวิชาการที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม จึงได้จัดประชุมทั้งในรูปแบบเชิงวิชาการและการอบรมเชิงปฏิบัติการเฉพาะทางด้านการออกแบบไมโครอิเล็กทรอนิกส์ครั้งแรกของประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์ในการประกาศให้ทุกภาคส่วนทราบถึงการขับเคลื่อนด้านการพัฒนากำลังคนด้านการออกแบบ IC โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีความสำคัญและเป็น แกนหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและนวัตกรรม จากความร่วมมือจากทั้งหน่วยงานในภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ด้านการออกแบบไมโครอิเล็กทรอนิกส์ โดยเปิดโอกาสให้นักวิจัย คณาจารย์ นักศึกษา และผู้ที่สนใจเกิดการรับรู้และอัปเดตเทคโนโลยีด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์ที่กำลังเป็นแนวโน้มในปัจจุบันและในอนาคต
ภายในการประชุมดังกล่าว มีการเสวนา ในประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจดังนี้ The role of supporting the government in accelerating IC design technology in the country from the perspective of each company หัวข้อ การศึกษาห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมไมโครอิเล็กทรอนิกส์ และโอกาสทางธุรกิจ ด้านการออกแบบวงจรรวมของไทย และ หัวข้อ More Than Moore"... A World of Heterogenous Integration and Chipset-Based, 3D Architectures ต่อด้วย หัวข้อ How Al is driving the next wave of innovation in EDA หัวข้อ Arm Introduction and Solutions for Thailand ต่อด้วย Semiconductor R&D: a Tiger Leap to Escape the Middle-Income Trap หัวข้อ Electronic Trend in Year 2030 และ หัวข้อ The Future of Power IC for Electric Vehicle Industry
ทั้งนี้ การประชุมและอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการออกแบบไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ครั้งที่ 1 (The 1st Thailand Microelectronic Design Symposium and Workshop) ในวันนี้จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจ โดยมุ่งเน้นการพัฒนา ในด้านการเพิ่มขีดความสามารถกำลังคนด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง ในภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยสู่เวทีโลกในอนาคต
###