วช. หนุน ม.ศิลปากร และ จ.เพชรบุรี สร้างความเข้มแข็งอัตลักษณ์เพชรบุรีสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร UNESCO เปิดตัว Portrait (Taste) of Phetchaburi รูปรสแห่งเมืองเพ็ชร์ นำTheme เพ็ชร์มีดี บุรีสร้างสรรค์ ด้วยวิจัยและนวัตกรรม
วันที่ 14 มีนาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ มหาวิทยาลัยศิลปากร และจ.เพชรบุรี เปิดตัวนิทรรศการ "Portrait (Taste) of Phetchaburi รูปรสแห่งเมืองเพ็ชร์” เสนอผลการดำเนินงานจากโครงการขยายผลงานวิจัย “การขยายผลความยั่งยืนของเมืองสร้างสรรค์จังหวัดเพชรบุรีสู่ย่านสร้างสรรค์ต้นแบบระดับอำเภอ” ภายใต้ Theme “เพ็ชร์มีดี บุรีสร้างสรรค์” โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดฯ รอบสื่อมวลชน ณ อาคารโบราณเพ็ชร์ปิ่นแก้ว (เขาวัง) อ.เมือง จ.เพชรบุรี พร้อมกับลงพื้นที่การยกระดับต้นแบบเมืองสร้างสรรค์ร่วมกับคณะนักวิจัยและผู้ทรงคุณวุฒิ วช. ณ อ.หนองหญ้าปล้อง อ.แก่งกระจาน และ อ.เมือง จ.เพชรบุรี
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า เพ็ชร์มีดี บุรีสร้างสรรค์ เป็นแคมเปญที่น่าตื่นตา ตื่นใจ เนื่องจากเป็นแคมเปญที่มาจากงานวิจัยที่สร้างสรรค์ โดยการนำองค์ความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรม เข้ามาเสริมเรื่องศักยภาพของชุมชน ที่ได้เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่เฟสแรกในปี 2563 ในเรื่องการขับเคลื่อนจังหวัดเพชรบุรีให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ ตามทิศทางการประเมินของยูเนสโกในเรื่องอาหาร ซึ่งสามารถนำสู่โดยการนำอัตลักษณ์ที่มีความโดดเด่น ๆ เรื่องอาหารของจังหวัดเพชรบุรี ที่เป็นเมืองอาหารอร่อย ขนมหวานมีรูปแบบอัตลักษณ์เฉพาะ พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ต้นแบบ จนเป็นส่วนสำคัญของผลสำเร็จในปัจจุบัน นำสู่การดำเนินงานในเฟสที่สอง ที่คัดเลือกพื้นที่8 อำเภอ และการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการที่เป็นวิสาหกิจต่าง ๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาพื้นที่ที่ดียิ่งขึ้นของจังหวัดเพชรบุรี ใน 3 พื้นที่ต้นแบบ ที่มีโอกาสไปตรวจเยี่ยม พบความประทับใจ ความตั้งใจและความพยามของมหาลัยศิลปากร ร่วมกับผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน ในการทำให้เกิดความเข้าใจของการนำเทคนิคและวิธีการไปยกระดับศักยภาพ ที่สำคัญ คือทุกที่ให้ความร่วมมืออย่างดียิ่งและเต็มศักยภาพ
รองศาสตราจารย์ ดร.ประสพชัย พสุนนท์ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยศิลปากร หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช. ให้ดำเนินการกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุน ขับเคลื่อนขยายผลความยั่งยืน เมืองสร้างสรรค์ สู่ระดับอำเภอ ซึ่งทั้ง 8 อำเภอของเพชรบุรีสานต่อเรื่องราวอัตลักษณ์ที่น่าสนใจ พร้อมเป็นต้นแบบระดับอำเภอ ได้แก่
1. อำเภอบ้านลาด ชูวัตถุดิบตาลโตนด ที่มีส่วนผสมของตาลโตนด ผลิต ข้าวเกรียบ “ตาลโตนดประโยชน์ทรัพย์”
2. อำเภอบ้านแหลม วัตถุดิบจากเกลือ ”เค็มโรแมนติก” ดูวาฬบรูด้า ชมผ้ามัดย้อม
3. อำเภอแก่งกระจาน “คนกับป่าพึ่งพา รักษาสมดุล” สวนชุมชน การทำเครื่องปั้นดินเผา ตลาดโลว์คาร์บอน การทำเซรามิก
4. อำเภอชะอำ “ทะเลไทยไม่แพ้ใคร “ การนำปลาอกแร้ เป็นอาหารว่างทานเล่น
5. อำเภอท่ายาง “ยุทธภพแห่งความอร่อย” โดยรวมอาหารขึ้นชื่อของตลาดท่ายางทั้งร้านข้าวแกงเจ้าดัง และผัดไทย
6. อำเภอเมือง ประวัติศาสตร์มีชีวิต ผ้าลายวัดใหญ่ทันสมัย ขุมทรัพย์แห่งรสชาติที่รอคอย อาหารพื้นถิ่นแกงหน่อส้ม ขนมควายลุย ผักจุ๊บ แจ่วด้าน
7. อำเภอเขาย้อย “ขุมทรัพย์แห่งรสชาติที่รอการค้นหา“ เป็นการนำเสนออาหารท้องถิ่นไทยทรงดำ
8. อำเภอหนองหญ้าปล้อง “รสชาติลำดับที่ 4”พื้นที่ชุมชนตลาดน้ำกวางโจว
หลังจากพิธีเปิดงาน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ นำคณะผู้ทรงคุณวุฒิ วช. เยี่ยมชมนิทรรศการพอร์ตเทรต ออฟเพชรบุรี ที่เป็นนิทรรศการศิลปะสื่อผสม ชูเรื่องราวของชุมชนและย่านสร้างสรรค์ในจังหวัดเพชรบุรีผ่าน ‘รสชาติ’ ที่เป็นมากกว่าอาหาร แต่รวมถึงประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรม ธรรมชาติ ไปจนถึงความรู้สึกและความผูกพันของผู้คนที่หลอมรวมจนกลายเป็นรสชาติเฉพาะตัวที่มีเสน่ห์แตกต่างกันไปผ่านการร้อยเรียงนำเสนอเรื่องราวของย่านสร้างสรรค์ในทั้ง 8 อำเภอของจังหวัดเพชรบุรี
ไฮไลท์ของงานอยู่ที่การชงเครื่องดื่มสูตร “เพชรพราว” เป็นเครื่องดื่ม 9 สูตร ที่ได้สร้างสรรค์จากวัตถุดิบเมืองเพชรบุรี เมือง 3 รส มาพัฒนาเป็นเครื่องดื่มค็อกเทลและม็อกเทล เพื่อตอบรับผู้ประกอบการต่าง ๆ ในจังหวัดเพชรบุรี โดยมีรสหวานจากตาลโตนด รสเค็มจากเกลือบ้านแหลม รสเปรี้ยวจากมะนาวแป้น และยังมีรสเผ็ดจากพริกพรานมาร่วมสร้างสีสัน โดยทั้ง 8 สูตรด้วยการนำการเอาวัตถุดิบทั้ง 3 อย่างมารวมกัน ดิมขอบแก้วด้วยเกลือเอาน้ำตาลโตนดผสมมะนาวแป้น ส่วนผสมในพื้นที่ และโซดาวางเป็นเลเยอร์ ไม่ใช้ช้อนหรือหลอด แต่ให้ดื่มด้วยแก้ว ก็จะได้ทั้งหมด 3 รส เป็นเครื่องดื่มทางเลือก ซึ่งสูตรนี้คิดค้นโดย ดร.ชิษณุพงศ์ ศิริโช ตินิศากร นักวิจัยแห่ง ม.ศิลปากร วิทยาเขตเพชรบุรี ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัย จาก วช.
พร้อมนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะผู้ทรงคุณวุฒิ วช. และคณะนักวิจัย ลงพื้นที่เยี่ยมชมตลาดน้ำกลางป่ากวางโจว อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี ชมการสาธิตจิกองเปย ถักโมบายกะเหรี่ยง เป็นเครื่องรางของใช้ในงานมงคลและป้องกันสิ่งไม่ดี ส่วนใหญ่แขวนไว้หน้าบ้าน และการสาธิตข้าวห่อกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นประเพณีของคนกะเหรี่ยงที่มีมาแต่อดีต ทุกเดือน 9 ของปี ทุกหมู่บ้านจะจัดประเพณีเรียกขวัญ โดยทุกบ้านจะนำข้าวห่อกับใบผากตัมทานคู่กับน้ำตาลตะโตนดตัมมะพร้าวขูด พร้อมให้ข้อคิดเห็น และเสนอแนะการขยายผลความยั่งยืนของเมืองสร้างสรรค์ของจังหวัดเพชรบุรีสู่ย่านสร้างสรรค์ต้นแบบระดับอำเภอ
จากนั้น ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมตลาดริมน้ำจามจุรี ตลาด Low Carbon ชุมชนบ้านถ้ำเสือ อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เป็นหนึ่ง 1 ใน 8 ย่านสร้างสรรค์ของจังหวัดเพชรบุรี ที่ได้รับการประกาศเป็นสมัครชิกเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของยูเนสโก ซึ่งตลาดนี้ วช. ร่วมกับ ม.ศิลปากร และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) เข้ามาพัฒนาพื้นที่ให้เกิดตลาดชุมชน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก
นอกจากนี้ ยังได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมชุมชนถนนพานิชเจริญ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ชึ่งชุมชนนี้ วช. ม.ศิลปากร ร่วมกับวิสาหกิจชุมชน เพชรบุรี ดีจัง โดย กลุ่มลูกหว้า และชุมชนย่านหัวถนนพานิชเจริญ จัดทำโปรแกรมทัวร์เดินเท้า ย่านสร้างสรรค์ เมืองเพชรบุรี ในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี ย่านวัดเกาะและหัวถนนพานิชเจริญ เพื่อฟื้นฟูย่านชุมชนเก่าแก่ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งเหมือนในอดีต รวมถึงส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน การลงพื้นที่ในครั้งนี้ ได้ไปวัดเกาะ ที่เป็นวัดเก่าสมัยอยุธยาที่มีภาพเขียนเก่าแก่อยู่บนผนังภายในโบสถ โรงทองโกวแขก บ้านของช่างทองโบราณเชื้อสายชาวช่างทองจีน และร้านขนมอาลัว บ้านครูปราณี ตัวอย่างของโรงขนมที่ทำกันภายในครอบครัว และบ้านจันทร์เพ็ญ บ้านไม้เรือนไทยอายุกว่า 120 ปี ที่ยังรักษาสภาพเรือนไทยไว้ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ได้มีการโชว์ลายผ้านุ่งจิตรกรรมฝาผนังจากวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี
สำหรับประชาชนที่สนใจเข้าชมนิทรรศการ "Portrait (Taste) of Phetchaburi รูปรสแห่งเมืองเพ็ชร์”สามารถเข้าชมได้ตั้งแต่วันที่ 14 – 23 มีนาคม 2567 เวลา 13.00 – 21.00 น. ณ อาคารโบราณเพ็ชร์ปิ่นแก้ว (เขาวัง) อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
###