วช. หนุน นักวิจัย มจพ. พัฒนา “แมงกะพรุนกรอบ” อาหารขบเคี้ยวสุขภาพจากคอลลาเจนธรรมชาติ ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับแมงกะพรุนไทย
ในช่วงปลายฝนต้นหนาว มักจะพบปรากฏการณ์ที่เหล่าแมงกะพรุนหลากสีนับหมื่นลอยเต็มท้องทะเล กินพื้นที่หลายตารางกิโลเมตร โดยเฉพาะบริเวณชายหาด ซึ่งชาวบ้านพากันใช้สวิงมาตักแมงกะพรุนนำไปดองส่งขายสร้างรายได้ให้กับชุมชน ปัจจุบันประเทศไทยจะบริโภคแมงกะพรุนที่ผ่านการแปรรูปด้วยการดองเกลือและสารส้ม ขายทั้งแบบสด และตากแห้ง ซึ่งมีมูลค่าไม่สูงนัก และยังไม่มีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น เนื้อแมงกะพรุนมีคุณค่าทางโภชนาการ คือ มีโปรตีนสูง และมีไขมันคอเลสเตอรอล และแคลอรี่ต่ำ โดยเฉพาะเป็นโปรตีนประเภทคอลลาเจนที่รับประทานได้คอลลาเจน คือเส้นใยโปรตีน เป็นส่วนประกอบของผิวหนัง กระดูกอ่อน เอ็นข้อต่อกระดูก กล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกาย จะมีคอลลาเจนเป็นส่วนประกอบอยู่ประมาณ 30% ของส่วนที่เป็นโปรตีนทั้งหมดในร่างกาย และเป็น 70 % ของผิวหนังของเรา ร่างกายจะสังเคราะห์คอลลาเจนลดลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น สังเกตได้จากการเหี่ยวย่นของผิวพรรณซึ่งสัมพันธ์กับปริมาณคอลลาเจนที่ลดลง คอลลาเจนจึงเป็นสารสำคัญและกำลังอยู่ในกระแสความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะในวงการสุขภาพความงาม และการแพทย์
รองศาสตราจารย์ ดร. เบญจวรรณ ธรรมธนารักษ์ ภาควิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเกษตร อาหารและสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า แมงกะพรุน เป็นอาหารสุขภาพที่มีแคลอรี่และโคเลสเตอรอลต่ำมาก เนื่องจากแมงกะพรุนมีปริมาณน้ำ เป็นองค์ประกอบประมาณ 95% ส่วนที่เหลือคือโปรตีน ซึ่งเป็นโปรตีนคอลลาเจน และเกลือแร่ต่าง ๆ ในประเทศไทยแมงกะพรุนชนิดที่กินได้เป็นแพลงตอนสัตว์ที่พบและสามารถนำมาทำเป็นธุรกิจประมงพื้นบ้านที่ทำรายได้ให้กับประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ส่งออกแมงกะพรุนในรูปของแมงกะพรุนดองเกลือเป็นอันดับ 1 ของเอเชียส่งออกไปยังประเทศหลัก เช่น ประเทศญี่ปุ่น และประเทศเกาหลีใต้ แมงกะพรุนชนิดกินได้ รู้จักกันในชื่อ แมงกะพรุนลอดช่อง และแมงกะพรุนหนัง ส่วนใหญ่จับได้ในประเทศไทยในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดระนอง จังหวัดพังงา จังหวัดกระบี่ จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดสตูล เป็นต้น
แมงกะพรุนสดที่จับได้จะผ่านการตัดแยกส่วนร่ม และส่วนขา ทำความสะอาดแล้วทำการดอง ด้วยส่วนผสมของเกลือ สารส้ม โซเดียมไบคาร์บอเนต ให้ได้ที่ ซึ่งเวลาจะนำมาบริโภคจะมาล้างเกลือออก ตัดเป็นเส้น นำมาปรุงรสด้วยน้ำมันงา ซึ่งปัจจุบันเมนูอาหารจากแมงกะพรุนเป็นที่นิยมบริโภค พบในภัตตาคารร้านอาหารจีน ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ จัดเป็นอาหารที่มีราคาแพง เป็นอาหารสดพร้อมบริโภค เก็บได้ไม่นาน เนื่องจากมูลค่าการส่งออกมีความผันผวนจากการที่จำนวนประชากรลดลงในประเทศหลัก เช่น ประเทศญี่ปุ่น ความต้องการในตลาดต่างประเทศมีน้อยลง การบริโภคแมงกะพรุนในรูปแบบเดิมต้องใช้ระยะเวลาในการประกอบอาหารนานและยุ่งยาก
จากจุดนี้เองจึงได้เริ่มทำการศึกษาวิจัยการแปรรูปแมงกะพรุน โดยใช้เทคโนโลยีที่ทำให้ผลิตภัณฑ์แมงกะพรุนมีความแปลกใหม่ เปลี่ยนรูปลักษณะและการบริโภคแบบเดิม จนได้เป็นผลิตภัณฑ์อาหารขบเคี้ยว ที่ใช้เทคนิคฟรีซดราย ที่ทำให้แมงกะพรุนมีความกรอบ อร่อย กินง่าย หลังจากการเคี้ยวที่ทำให้แมงกะพรุนละเอียดคลุกเค้ากับน้ำลายก่อนกลืนจะรับรู้ได้ถึงความเป็นเจลลี่ ซึ่งก็คือคอลลาเจนและกลิ่นรสของทะเล อันเป็นซิกเนเจอร์ของแมงกะพรุน
จุดเด่นของผลิตภัณฑ์แมงกะพรุนกรอบ คือเป็น Collagen Snack ที่ทำจากแมงกะพรุน 100% ที่ปรุงรสด้วยน้ำมันงาเพิ่มรสชาติความอร่อย มีดัชนีน้ำตาลต่ำ ไม่มีผงชูรสและกลูเตน มีพลังงานเพียง 60 กิโลแคลอรี่ มีคอลลาเจน 1500 มิลลิกรัม และมีอินูลิน ช่วยทำให้อิ่มเป็นอาหารรองท้องได้เป็นอย่างดี เหมาะกับคนทำงานที่มีภารกิจมากไม่มีเวลารับประทานอาหาร ผู้ที่ต้องการรักษาหุ่นและน้ำหนัก คุณพ่อคุณแม่ที่ต้องการซื้อสแนคสุขภาพให้ลูก ๆ และผู้สูงอายุที่มีปัญหาการบดเคี้ยว นอกจากการรับประทานเป็นอาหารขบเคี้ยวแล้ว แมงกะพรุนกรอบยังสามารถนำไปรับประทานร่วมกับเมนูอาหารอื่นๆ เช่น โรยหน้าโจ๊ก ไข่ตุ๋น หรือสลัด
ทั้งนี้ สํานักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ได้นําผลิตภัณฑ์แมงกะพรุนกรอบ เข้าร่วมประกวดในงานนวัตกรรมระดับโลก ครั้งที่ 49 International Exhibition of Inventions Geneva จนคว้ารางวัล Bronze Medal และรางวัล Special Award จาก KING KHALID UNIVERSITY ประเทศซาอุดิอาระเบีย ได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 17-21 เมษายน 2567 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์แมงกะพรุนกรอบจัดจำหน่ายภายใต้แบรนด์ SupperSea และ Kurage มีการวางจำหน่ายที่ร้าน Home Bakery, Fishermanshop ของกรมประมง และผ่านช่องทางออนไลน์ FB: www.facebook.com/SupperSea, Line @ Suppersea จัดจำหน่ายโดยษริษัทยูนีค โกลด์ อินเตอร์ฟู้ด จำกัด เป็นบริษัท Start up ที่ร่วมทำงานกับนักวิจัยของภาควิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
###