เปิดบ้านวันที่สอง NRCT Open House 2024 วช. ชี้แจงกรอบการวิจัย ปีงบประมาณ 2568 “ผลักดันแนวคิดการสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมร่วมแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

   วันที่ 2 มิถุนายน 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการประชุมชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2568 และแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม NRCT Open House 2024 โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมฯ เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับกรอบการวิจัยและนวัตกรรมของ วช. ประจำปีงบประมาณ 2568 พร้อมการรับข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม ที่ วช.ให้การสนับสนุนทุนการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2568

   ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. มุ่งเน้นสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ การเตรียมความพร้อม ให้แก่ นักวิจัย ผู้บริหารและผู้ประสานงานของหน่วยวิจัย ในการเตรียมข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อขอรับทุนประจำปีงบประมาณ 2568 โดย วช. มุ่งมั่นการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม พร้อมกับประชาคมวิจัย เพื่อสร้างองค์ความรู้ ผลิตผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีศักยภาพและประสิทธิภาพสู่การนำไปใช้ประโยชน์ ตลอดจนมุ่งเน้นการสนับสนุนให้เกิดการขยายเครือข่ายวิจัยในด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีการมุ่งเน้นจัดการปัญหาสภาพอากาศรุนแรงแบบสุดขั้ว มลพิษอากาศ น้ำ ดิน ลดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ รักษาระบบนิเวศ และทรัพยากรทั้งป่าไม้และทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยนำกรอบแนวคิดการวิจัยและนวัตกรรมเข้ามามีส่วนร่วมในการเร่งแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการบริโภคอย่างยั่งยืนและการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ เช่น Zero Waste การลดความเสี่ยงและผลกระทบที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เช่น แผ่นดินไหว การบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่ และฝุ่น PM 2.5 เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในแก่ประเทศ

   พร้อมนี้ ได้จัดให้มีหัวข้อการเสวนาเรื่อง “แนวทางการเขียนและพิจารณาข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” ได้รับเกียรติจาก ดร.วิจารย์ สิมาฉายา กล่าวถึงประเด็นมุ่งเน้นภายใต้แผนงาน นิเวศมลพิษในภาคอุตสาหกรรม และพลังงานรวมถึงเป็นผู้ดำเนินรายการ, ศ. ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ กล่าวถึงประเด็นมุ่งเน้นภายใต้แผนงานเศรษฐกิจสีน้ำเงิน, ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ กล่าวถึงประเด็นมุ่งเน้นภายใต้แผนงานขยะ และ Zero Waste ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา กล่าวถึงประเด็นมุ่งเน้นภายใต้แผนงานมลพิษอากาศและ PM2.5 และ รศ. ดร.อำนาจ ชิดไธสง กล่าวถึงประเด็นมุ่งเน้นภายใต้แผนงาน ภัยพิบัติ Climate Change และการจัดการน้ำ การเสวนาในครั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างการพัฒนาองค์ความรู้ สามารถระบุเป้าหมายที่ชัดเจน ทั้งกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ กลุ่มผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการเขียนข้อเสนอ อีกทั้งมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม โดยผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านเข้าร่วมเสวนาและตอบข้อซักถามถึงหัวข้อเสวนาในวันนี้

   สำหรับกิจกรรมภายในงาน ได้แนะนำการใช้งานระบบ “NRIIS” โดย คุณศยามน ไชยปุรณะ ผู้อำนวยการกลุ่มงานวิเคราะห์ ประมวลผล และบูรณาการข้อมูลสารสนเทศ ที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับเว็บไซต์ที่จะช่วยให้นักวิจัยสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ในการติดตามความก้าวหน้าของงานวิจัยได้อย่างทันท่วงที และคุณกรรณิกา ดุรงคเดช ผู้อำนวยการภารกิจการวิจัยและนวัตกรรมของแระเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วช. กล่าวถึงภาพรวมผลสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกลไกลการผลักดันแนวคิดการพัฒนาข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์อย่างมีผลกระทบของการมีโครงการวิจัยฯ เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่หรือชุมชนอย่างไร

ในช่วงบ่าย ได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ ดังนี้

(1) กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ โดย รศ. ดร.นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ จากศูนย์ขับเคลื่อนผลงานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมสู่การนำไปใช้ประโยชน์ วช. ผศ.สพ.ญ.ดร.กรรณิการ์ ศิริภัทรประวัติ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ น.สพ.เบญจรงค์ สังขรักษ์ ผู้ร่วมวิจัยและผู้แทนหน่วยงานผู้ใช้ประโยชน์จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

(2) กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ด้านการบริหารจัดการน้ำ โดย รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ จากผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ นักวิจัยจากภาคเอกชน บริษัท สร้างสรรค์ปัญญา จำกัด ว่าที่ ร.ต.อลงกต ประสมทรัพย์ ผู้แทนหน่วยงานผู้ใช้ประโยชน์จากองค์กรผู้ใช้น้ำตำบลบ่อสวก อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน

(3) กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ด้าน Food Waste โดย ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ จากศูนย์ประสานเพื่อพัฒนาโจทย์วิจัยสู่การใช้ประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม วช. คุณภรณี กองอมรภิญโญ ผู้แทนหน่วยงานผู้ร่วมผลักดันผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์จากกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย รศ.ดร.ชวิศ เกตุแก้ว นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ผศ. ดร.สุภาพร ภัสสร นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยพะเยา
ซึ่งเป็นผลงานวิจัยและนวัตกรรมตัวอย่างที่บูรณาการความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สามารถผลักดันสู่การนำไปใช้ประโยชน์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ NRCT Open House 2024 : การชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2568 งานจัดระหว่างวันที่ 1 – 9 มิถุนายน 2567 ในรูปแบบ Onsite ณ ห้องจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ชั้น 2 อาคาร วช.1 และออนไลน์ผ่าน (Video conference) ด้วยระบบ zoom meeting และการถ่ายทอดสด (Live streaming) ผ่านช่องทางออนไลน์ Facebook ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มีประเด็นที่น่าสนใจในแต่ละวัน 9 ด้าน ดังนี้
1. ด้านสังคมและความมั่นคง (วันที่ 1 มิถุนายน 2567)
2. ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (วันที่ 2 มิถุนายน 2567)
3. ด้านการพัฒนาศูนย์กลางกำลังคนทักษะสูงที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และศูนย์กลางการเรียนรู้
(วันที่ 3 มิถุนายน 2567)
4. ด้านการรองรับสังคมสูงวัย (วันที่ 4 มิถุนายน 2567)
5. ด้านการพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัยและนวัตกรรม และการวิจัยเพื่อฐานทางวิชาการ (วันที่ 5 มิถุนายน 2567)
6. ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม (วันที่ 6 มิถุนายน 2567)
7. ด้านเศรษฐกิจและการเกษตร (วันที่ 7 มิถุนายน 2567)
8. ด้านสัตว์เศรษฐกิจ (วันที่ 8 มิถุนายน 2567)
9. ด้านการจัดการความรู้การวิจัย และถ่ายทอดเพื่อการใช้ประโยชน์ (วันที่ 9 มิถุนายน 2567)

###