ป.ป.ส. เชิญชวนเยาวชนร่วมกิจกรรมสื่อสาร สร้างสรรค์ รู้เท่าทัน ยาบ้า (Be Smart Say No to Drugs) ส่งผลงานประกวดคลิป วิดีโอสั้น ภายใต้คอนเซปต์ “How to say no to Yaba ?” ชิงรางวัลรวมมูลค่ากว่า 24,000,000 ล้านบาท มุ่งผลักดันคนรุ่นใหม่ห่างไกลจากยาบ้า

   สืบเนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบัน อัตราของผู้ติดยาเสพติดยังคงสูงและอยู่ในวัยเยาวชนที่แนวโน้มจะมีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ โดยในประเทศไทยยาเสพติดที่มีการแพร่ระบาดและมีการเสพติดสูงสุด คือ ยาบ้า ทั้งนี้ จากข้อมูลของผู้ติดยาเสพติดพบว่าอายุเฉลี่ยของการใช้ยาเสพติดในครั้งแรก คือ 15-19 ปี ถือว่าเป็นช่วงวัยที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ในปัจจุบัน เยาวชนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้ง่ายและรวดเร็ว ผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีอยู่มากมาย หลายข้อมูลไม่ผ่านการกลั่นกรอง บิดเบือน ทำให้โดนชักจูงเข้าสู่วงจรเสพยาเสพติดได้โดยง่าย โดยเฉพาะ ยาบ้า ซึ่งจัดเป็นยาเสพติดที่เป็นปัญหาสูงสุดของประเทศไทย

   พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เปิดเผยว่า “นโยบายปัจจุบันมุ่งเน้นให้หมู่บ้าน/ชุมชน มีความปลอดภัยจากปัญหายาบ้า สร้างความเชื่อมั่น ความพึงพอใจของประชาชน และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี นำความปลอดภัยมาสู่ประชาชน ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ได้กำหนดเป้าหมาย ลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติด และยกเป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องได้รับการแก้ไขให้เห็นผลเป็นรูปธรรมภายใน 1 ปี ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายในการป้องกันยาเสพติดที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก คือ กลุ่มเด็กและเยาวชน อายุระหว่าง 13-19 ปี ซึ่งเป็นวัยรุ่นที่มีพลังสร้างสรรค์ ถือเป็นกลไกการขับเคลื่อนงานป้องกันยาเสพติดที่สำคัญ ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมสร้างสังคมปลอดภัยจากยาเสพติด”

   สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) โดย พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. ได้เปิดเผยว่า “ในฐานะที่สำนักงาน ป.ป.ส. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนงานยาเสพติดของประเทศ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดให้กับเด็กและเยาวชน จึงได้กำหนดนโยบายและแผนระดับชาติ ว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และแก้ใขปัญหายาเสพติด พ.ศ.2566 - 2570 โดยเน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับยาเสพติดให้กับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กและเยาวชน ผ่านการเรียนการสอน รวมถึงช่องทางการใช้สื่อโซเชียลมีเดียในปัจจุบัน นับเป็นช่องทางสำคัญที่สามารถสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนได้อย่างทั่วถึง อีกทั้ง สอดคล้องกับความสนใจของช่วงวัย ทั้งนี้ เพื่อให้การสื่อสารถึงเยาวชนเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด โดยเฉพาะการสื่อสารให้รู้เท่าทันโทษพิษภัย ยาบ้า ที่เป็นปัญหายาเสพติดของประเทศไทย”

   สำนักงาน ป.ป.ส. จึงได้สร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ภายใต้ชื่อกิจกรรมสื่อสาร สร้างสรรค์ รู้เท่าทันยาบ้า (Be Smart Say No to Drugs) ซึ่งเป็นการประกวดคลิปวิดีโอสั้น (ไม่เกิน 1 นาที) ผ่านแพลตฟอร์มติ๊กต็อก (TikTok) ภายใต้คอนเซปต์ “How to say no to Yaba ?” ผู้ส่งผลงานอายุ 13 - 19 ปี ที่กำลังศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา หรือเทียบเท่า ในสถานศึกษาทั่วประเทศ

   การประกวดแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ (1) ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นหรือเทียบเท่า (ทีมละ 2-5 คน) และ (2) ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวศึกษา หรือเทียบเท่า (ทีมละ 2-5 คน) โดยในแต่ละทีมจะต้องอยู่สถานศึกษาเดียวกัน สำหรับการคัดเลือกผลงาน จะเริ่มคัดเลือกตั้งแต่ระดับอำเภอจำนวน 878 อำเภอ แล้วคัดเลือกทีมชนะเลิศแต่ละอำเภอ มาแข่งขันเป็นตัวแทนของจังหวัดและกรุงเทพมหานคร เพื่อเข้ามาตัดสินในระดับประเทศต่อไป

   โดยชิงเงินรางวัลรวมทุกระดับกว่า 24 ล้านบาท ทั้งนี้ กิจกรรมสื่อสาร สร้างสรรค์ รู้เท่าทัน ยาบ้า (Be Smart Say No to Drugs) เริ่มเปิดรับผลงานตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยสามารถส่งผลงานผ่านช่องทาง www.besmartsaynotodrugs.com

   กิจกรรมนี้ มุ่งหวังที่จะสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้กับเยาวชน ให้ห่างไกลจากยาบ้า และรับรู้ถึงโทษพิษภัยผลกระทบจากการใช้ยาเสพติด การใช้สื่อโซเชียลมีเดียในการสร้างการรับรู้จึงถือเป็นเครื่องมือหลักในการที่จะช่วยสื่อสาร และเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงในการเข้าถึงเยาวชน ได้ง่ายและรวดเร็วที่สุด นอกจากนี้ ยังต้องการที่จะให้เยาวชน รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และสร้างสรรค์สื่อที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

   ทั้งนี้ ผลงานที่ได้รับรางวัล สำนักงาน ป.ป.ส. จะนำมาใช้ในการสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ เพื่อสร้างกระแสให้เยาวชนห่างไกลจากยาบ้า พร้อมทั้ง ดำเนินการตามแผนงานให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล โดยผ่านกลไกในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ เพื่อมุ่งหวังให้เยาวชนมีทักษะการใช้ชีวิตให้ห่างไกลจากยาเสพติด พร้อมทั้ง รู้เท่าทันโทษพิษภัยยาบ้า สามารถใช้ชีวิตและเติบโตเป็นคนที่มีคุณภาพเป็นกำลังพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง www.besmartsaynotodrugs.com / Facebook : Be Smart Say No to Drugs / Tiktok : besmartsaynotodrugs ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

###