วช. หนุน รร.นายร้อยตำรวจ พัฒนาแอป “3B-JOB” มอบโอกาสเด็กและเยาวชน พร้อมโชว์งานวิจัยการตรวจสารเสพติดในเส้นผม

   โอกาส เป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กและเยาวชนที่เคยก้าวพลาดด้วยเหตุผลต่าง ๆ การได้กลับคืนสู่สังคม ใช้ชีวิตอย่างปกติสุข เป็นสิ่งที่ทุกคนใฝ่ฝัน

   สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เล็งเห็นถึงโอกาสนี้ จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยให้กับโรงเรียนนายร้อยตำรวจ โดยมี ผศ.พ.ต.อ.ดร. ธิติ มหาเจริญ รองคณบดีคณะนิติวิทยาศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ เป็นหัวหน้าโครงการ ภายใต้แผนงานวิจัย นวัตกรรมยุติธรรมท้าทายไทยเพื่อการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำและส่งเสริมโอกาสการดำเนินชีวิตของเด็กและเยาวชนที่เคยกระทำความผิด เพื่อพัฒนาแอปพลิเคชัน “3B-JOB” และจัดทำโครงการวิจัยเกี่ยวกับการตรวจสารเสพติดในเส้นผม เพื่อป้องกันปัญหาการใช้สารเสพติดของเด็กและเยาวชน เพื่อช่วยน้อง ๆ ผู้ที่เคยก้าวผิดได้กลับเข้าสู่สังคม ได้รับโอกาสมีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้ เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว

   ผศ.พ.ต.อ.ดร. ธิติ มหาเจริญ รองคณบดีคณะนิติวิทยาศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ กล่าวว่า โครงการออกแบบพัฒนาแอปพลิเคชัน “3B-JOB” เป็นโครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจาก วช. ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างโอกาสทางอาชีพสำหรับเด็กและเยาวชนที่เคยก้าวพลาด ด้วยการใช้แอปพลิเคชันเป็นสื่อกลางระหว่างผู้ประกอบการ นายจ้าง และเด็ก เยาวชนที่ต้องการมีงานทำ โดยแบ่งผู้ใช้งานออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มเครือข่ายส่งเสริมอาชีพ คือ กลุ่มผู้ประกอบการหรือนายจ้างที่สามารถประชาสัมพันธ์ภารกิจของหน่วยงานลงประกาศรับสมัครงาน และเสนอตำแหน่งงานที่เหมาะสมให้กับเด็กและเยาวชนได้โดยตรง และ 2) กลุ่มเด็กและเยาวชนที่ต้องการมีงานทำ ซึ่งสามารถสร้างโปรไฟล์ ลงประวัติส่วนตัว และนำเสนอศักยภาพและทักษะในด้านต่าง ๆ ที่ตรงตามความต้องการของตนเองและตลาดแรงงาน

   ทั้งนี้ แอปพลิเคชัน 3B-JOB ได้ออกแบบมาให้ใช้งานง่ายและสะดวกต่อการเข้าถึงข้อมูล โดยช่วยให้เด็กและเยาวชนได้รับตำแหน่งงานที่ตรงกับความสามารถของตนเอง และช่วยให้นายจ้างได้ผู้ร่วมงานหรือตำแหน่งงานที่เหมาะสมกับองค์กร นอกจากนี้ ยังมีโครงการวิจัยเกี่ยวกับการตรวจสารเสพติดในเส้นผมเพื่อป้องกันปัญหาการใช้สารเสพติดของเด็กและเยาวชน ซึ่งโรงเรียนนายร้อยตำรวจ โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช. ได้ดำเนินการร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และกระทรวงยุติธรรม โดยโครงการนี้ เน้นการควบคุมให้น้อง ๆ เยาวชนในสถานพินิจฯ หรือศูนย์ฝึกฯ ไม่หวนกลับไปใช้สารเสพติดซ้ำเมื่อได้รับการอนุญาตลาเยี่ยมบ้านหรือกลับคืนสู่สังคม


   ดร. ธิติ มหาเจริญ กล่าวต่อว่า สารเสพติดถึงแม้จะหยุดใช้งานเป็นระยะเวลานาน แต่ก็ยังฝังตัวอยู่ในเส้นผม แตกต่างจากตัวอย่างปัสสาวะ และเลือด ที่จะถูกขับออกตามกลไกร่างกาย ซึ่งวิธีการตรวจหาสารเสพติดในเส้นผม คือ การตัดเส้นผมที่ห่างจากหนังศีรษะ 3 เซนติเมตร ฉะนั้นถ้ามีการเสพสารเสพติดภายในระยะเวลา 3 เดือน จะสามารถตรวจพบได้ ซึ่งวิธีการนี้ เน้นการควบคุมเยาวชนไม่ให้หวนกลับไปใช้สารเสพติดอีกครั้ง ทั้งนี้ หลังจากการดำเนินโครงการ พบว่า สถิติการตรวจพบสารเสพติดในกลุ่มเป้าหมายลดลงอย่างเห็นได้ชัด

   วช. มุ่งหวังว่าการสนับสนุนทุนวิจัยในครั้งนี้ จะเป็นพลังสำคัญในการสร้างสังคมที่ทุกคนมีโอกาส เด็กและเยาวชนสามารถเติบโตและพัฒนาศักยภาพ มีอนาคตที่สดใส เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศชาติต่อไป

###