วช. สนับสนุนแนวทาง Zero waste หนุน ม.แม่ฟ้าหลวง ม.เกษตรศาสตร์ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นำวิจัยและนวัตกรรม เพิ่มมูลค่ากระบวนการแปรรูป “สับปะรดภูแล” สินค้า GI เชียงราย
วันที่ 28 มิถุนายน 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำโดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ วช. และสื่อมวลชน ลงพื้นที่ติดตาม”โครงการการใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าวัสดุเศษเหลือและการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในโซ่การผลิตและการแปรรูปสับปะรดภูแล เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” ณ ห้อง Food Maker Space มหาวิทยาแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย และพื้นที่กลุ่มวิสาหกิจผู้ปลูกสัปปะรดภูแล
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. เล็งเห็นถึงความสำคัญของโครงการ และให้การสนับสนุนโครงการดังกล่าว ตามแนวทาง Zero waste ที่นำผลไม้ GI ของจังหวัดเชียงราย”สับประรดภูแล”มาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า โดยมีการนำวัสดุเศษเหลือจากกระบวนผลิตและแปรรูป มาใช้ประโยชน์เพื่อลดปริมาณการปลดปล่อยคาร์บอน โดย วช. มุ่งผลักดันโครงการดังกล่าวให้มีการพัฒนา ต่อยอดและขยายตลาดให้ไปสู่ระดับจังหวัดและในระดับประเทศ
รศ. ดร.วาริช ศรีละออง และ รศ.ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ จาก มจธ.,ผศ. ดร.พันธ์สิริ สุทธิลักษณ์ และ ผศ. ดร.สุทธิวัลย์ สีทา จากม.แม่ฟ้าหลวง และ ผศ. ดร.สอนกิจจา บุญโปร่ง จาก ม.เกษตรศาสตร์ พร้อมด้วยทีมคณะนักวิจัย ได้ร่วมกันนำเสนอความก้าวหน้าและผลสำเร็จ จากการวิจัยและการศึกษาการใช้ประโยชน์จากวัสดุเศษเหลือและศึกษาการปลดปล่อยคาร์บอนในการผลิตสับปะรดภูแลในเขตจังหวัดเชียงราย ที่เป็นสินค้า GI ของจังหวัดเชียงราย มียอดสั่งซื้อจากต่างประเทศ ทั้งในรูปของผลสด ผลปอกเปลือกหรือตัดแต่งก่อนส่งออกติดต่อกันทุกปี จนทำให้ปัจจุบัน มีพื้นที่ปลูกสับปะรดชนิดนี้ในจังหวัดเชียงราย มากกว่า 5 หมื่นไร่ มีผลผลิตมากกว่าหนึ่งแสนตันต่อปี จึงได้นำกระบนการในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากของวัสดุเศษเหลือในกระบวนการผลิต และเพื่อให้ได้ตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์สับปะรดภูแล ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช. เพื่อศึกษาเศษเหลือใช้จากสับปะรดในการเพิ่มมูลค่า โดยนำตาของสับปะรดที่มีน้ำตาล glucose fructose และ sucrose เป็นหลัก โดยสามารถเปลี่ยนน้ำตาล fructose จากเปลือกและตาสับปะรดไปเป็น D – allulose หรือน้ำตาลหายาก เป็นสารให้ความหวาน ที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสุขภาพ อีกทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยใช้ประโยชน์วัสดุเศษเหลือในกระบวนการแปรรูปสับปะรดภูแลตามแนวทาง Zero waste ซึ่งมีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างความตระหนักให้กับเกษตรกรหรือผู้ประกอบการเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่มีผลกับอุตสาหกรรมในภาพรวม
นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์และกระบวนการต่างๆของโครงการที่เกี่ยวข้องกับการใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าวัสดุเศษเหลือและการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในโซ่การผลิตและการแปรรูปสับปะรดภูแล ได้แก่
-เรื่อง “นวัตกรรมการใช้ประโยชน์วัสดุเศษเหลือตามแนวทาง Zero waste” ผศ. ดร.พันธ์สิริ สุทธิลักษณ์ และ ผศ. ดร.สุทธิวัลย์ สีทา จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
-เรื่อง “คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของกระบวนการการปลูกและแปรรูปสับประรดภูแลตลอดห่วงโซ่การผลิต” โดย รศ. ดร.ทรงเกียรติ ภัทรปัทมาวงศ์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
-เรื่อง “DRONE + AI ในการวิเคราะห์คาร์บอนฟุตพริ้นท์” โดย ผศ. ดร.สอนกิจจา บุญโปร่ง จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
-เรื่อง “เทคโนโลยีไมโครบับเบิ้ลเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรม” โดย รศ. ดร.ณัฐชัย พงษ์ประเสริฐ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
และมีการแสดงข้อคิดเห็นจากผู้ประกอบการและกลุ่มวิสาหกิจชุมชน อีกด้วย
###