เครือข่ายวิจัยภูมิภาค โดย ศูนย์วิจัยชุมชน นำผลงาน ท่องเที่ยวไหมโบราณ บ้านเสี้ยวน้อย จ.ชัยภูมิ สนับสนุนโดย วช. นำเสนอในกิจกรรมตรวจเยี่ยมพื้นที่ ครม.สัญจร ณ จ.ชัยภูมิ
วันที่ 30 มิถุนายน 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำโดย ท่านศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานด้าน อววน. ภายใต้การประชุม ครม.สัญจร กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดชัยภูมิ ณ วัดบางอำพันธ์ บ้านหัวบึง ตำบลบ้านตาล อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ
ในโอกาสนี้ ท่านศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. เยี่ยมชมนิทรรศการศูนย์วิจัยชุมชน "ท่องเที่ยวไหมโบราณ บ้านเสี้ยวน้อย จ.ชัยภูมิ" นำเสนอโดย ผศ.ดร.ประมุข ศรีชัยวงศ์ พร้อมด้วยกลุ่มผู้นำในชุมชน และกลุ่มผู้ทอผ้าไหมของบ้านเสี้ยวน้อย
ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. ได้ร่วมกับเครือข่ายวิจัยภูมิภาคทั้ง 4 ภูมิภาค จัดตั้ง “ศูนย์วิจัยชุมชน” ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในชุมชนได้เข้าถึงงานวิจัย นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ รวมถึงเชื่อมโยงในการพัฒนาการประกอบอาชีพ และพัฒนาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น ปัจจุบันเครือข่ายวิจัยภูมิภาค : ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศูนย์วิจัยชุมชน “ท่องเที่ยวไหมโบราณ บ้านเสี้ยวน้อย” จ.ชัยภูมิ นี้ มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแบบดั้งเดิม และการผลิตเส้นไหมตามเกณฑ์ชี้วัดทางภูมิศาสตร์ (GI) โดยอาศัยภูมิปัญญาที่สืบทอดจากบรรพบุรุษ มีการทำผ้าหมักโคลน โดยนำผ้าไหมที่ทอทั้งผืนไปหมักโคลน เพื่อให้ผ้ามีความนุ่ม ลื่น พลิ้วไหว ไม่แข็งกระด้าง เป็นหมู่บ้านที่มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมครบวงจร มีผลิตภัณฑ์จากหม่อนและไหม ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ภูมิปัญญา วัฒนธรรม องค์ความรู้ อันจะนำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยชุมชนบ้านเสี้ยวน้อย มีโครงการย่อยที่สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงอัตลักษณ์ชุมชน 3 โครงการ ดังนี้
- การพัฒนาการผลิตผ้าฝ้ายย้อมโคลนของกลุ่มผู้ผลติผ้าฝ้ายในเขตอำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ
- การยกระดับศักยภาพการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาพื้นที่บนฐานอัตลักษณ์ท้องถิ่น ชุมชนบ้านเสี้ยวน้อย อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ
- การพัฒนานวัตกรรม IoT สนับสนุนการทำแปลงดาวเรืองที่เหมาะสมกับผู้สูงวัย เพื่อเพิ่มผลผลิตและรายได้ ของศูนย์วิจัยชุมชนท่องเที่ยวไหมโบราณบ้านเสี้ยวน้อย จ.ชัยภูมิ
นับเป็นตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จจากที่เกิดจากความร่วมมือของเครือข่ายวิจัยภูมิภาค : ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้วยวิจัยและนวัตกรรมได้อย่างยั่งยืน
###