เสวนา ดนตรีของพระเจ้าแผ่นดิน น้อมสำนึกพระอัจฉริยภาพดนตรี กษัตริย์ไทยราชวงศ์จักรี
วันที่ 7 สิงหาคม 2567 ที่ อาคารอเนกประสงค์ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ถนนวิภาวดีรังสิต สำนักข่าวออนไลน์เพื่อสังคม The Publisher ร่วมกับกองดุริยางค์กองบัญชาการกองทัพไทย จัดกิจกรรมแสดงดนตรีและเสวนาหัวข้อ "ดนตรีของพระเจ้าแผ่นดิน" เพื่อแสดงถึงความจงรักภักดีและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทย ในราชวงศ์จักรี ซึ่งทุกพระองค์ทรงมีพระอัจฉริยภาพทางด้านดนตรีไทย-สากล ผ่านแต่ละยุคสมัยลุล่วงจนถึงปัจจุบัน
โดยกิจกรรมแสดงดนตรีและเสวนาหัวข้อ "ดนตรีของ พระเจ้าแผ่นดิน" ได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ ประจำสาขาวิชาสถิติประยุกต์ คณะสถิติประยุกต์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในการค้นคว้ารวบรวมข้อมูลและร่วมเสวนาเรื่อง ""ดนตรีของ พระเจ้าแผ่นดิน" กับบุคคลวงการบันเทิง และดนตรี ได้แก่ นิติพงษ์ ห่อนาค นักแต่งเพลงชื่อดัง, สุเมธ องอาจ, ประกาษิต โบสุวรรณ ในนามสุเมธ แอนด์ เดอะปั๋ง และ ผศ. ดร. สุรพงษ์ บ้านไกรทอง อาจารย์ประจำภาควิชาดนตรีไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา มาร่วมเทิดพระเกียรติในพระอัจฉริยภาพ
บรรยากาศภายในงานได้รับความสนใจจากประชาชนมาร่วมรับฟังผลงานพระราชนิพนธ์ ทั้งกาพย์-เสภา ดนตรีไทย ที่บรรเลงโดยวงดนตรีไทย จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และบทเพลงพระราชนิพนธ์ อัญเชิญโดยวงดุริยางค์กองทัพไทย ซึ่งยังได้ หรั่ง-ชัชชัย สุขาวดี มาร่วมเป็นนักร้องรับเชิญ รวมถึง พลตรี วันชนะ สวัสดี มาร่วมสร้างสีสัน
ผศ.ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ เปิดเผยว่า หัวข้อเสวนา บทเพลงของพระเจ้าแผ่นดิน นอกจากประวัติที่มาบทเพลงและดนตรีของพระเจ้าแผ่นดิน ที่นำมาเทิดพระเกียรติ ยังมีการกล่าวถึงเครื่องทรงดนตรีของพระเจ้าแผ่นดินในแต่ละพระองค์ที่ทรงพระราชนิพนธ์ แล้วถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์ด้านใดบ้างในพระราชกรณียกิจ ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ได้ทัศนคติจากผู้มีความรู้ทางดนตรีและนักวิชาการ เสมือนเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถทรงมีจินตนาการสร้างสรรค์ที่ไม่ซ้ำแบบผู้ใด และแปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา
ด้าน ผศ.ดร.สุรพงษ์ บ้านไกรทอง เปิดเผยว่า พระอัจฉริยภาพทางด้านดนตรีของพระมหากษัตริย์ไทย ที่เห็นเป็นตัวอย่างเด่นชัด คือ เพลงพระราชนิพนธ์ "มหาจุฬาลงกรณ์" บทเพลงพระราชนิพนธ์ ในหลวงรัชกาลที่ 9 บทแรก ที่พระราชทานเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยนั้น แสดงถึงพระปรีชาสามารถ ในจินตนาการสร้างสรรค์นี้ ทรงใช้ระบบการประพันธ์แบบสิบสองเสียง ซึ่งเป็นประเพณีที่นิยมกันทางตะวันตก เพราะถือว่าสามารถสร้างสีสันของเสียงดนตรีได้มากมาย โดยการใส่คอร์ดต่าง ๆ อย่างสลับซับซ้อน และสามารถจำได้ยากจึงทรงเลือกประพันธ์ทำนองเพลงใหม่โดยใช้ระบบห้าเสียง ซึ่งเป็นระดับเสียงที่เรียบง่าย และมักจะพบในทำนองเพลงพื้นบ้านเป็นการพิสูจน์ว่า แม้ระบบบันไดเสียงที่เรียบง่ายก็อาจประพันธ์ทำนองให้ไพเราะได้ ทรงเรียบเรียงทำนองเพลงที่จำได้ง่ายแต่มีระเบียบและมีความสมดุลกันเป็นอย่างดี ด้วยระบบบันไดเสียงที่เรียบง่ายและด้วยลีลามาร์ชที่หนักแน่น ดังนั้นเมื่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกราบบังคมทูลขอพระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัย จึงได้พระราชทานทำนองเพลงนี้ และให้ทางมหาวิทยาลัยเป็นผู้ประพันธ์คำร้อง "มหาจุฬาลงกรณ์" จึงเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยที่มีท่วงทำนองงามสง่า มีจังหวะหนักแน่น มีความศักดิ์สิทธิ์สมเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของชาติ ซึ่งมีกำเนิดจากพระราชดำริของสมเด็จพระปิยมหาราช องค์สมเด็จพระอัยยกาธิราชในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
นอกจากกิจกรรมดนตรี และเสวนาวิชาการ ในงานนี้ยังมีบูธกิจกรรม Street Art King Bhumibol บูธสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ จำหน่ายหนังสือ สถาบันกษัตริย์ ความจริง ที่ถูกบิดเบือน และ หนังสือ ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ความจริงที่ถูกบิดเบือน, หนังสือทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ ก่อนที่ผู้ร่วมงานทั้งหมดจะร่วมเทิดพระเกียรติขับร้องเพลง "ขอเป็นข้ารองบาททุกชาติไป" ร่วมกันอย่างกึกก้อง
นอกจากนี้ ยังมีบูธที่มาในงาน คือ บูธ 2475 /บูธ ซื่อสัตย์เพื่อชาติ และสนับสนุนเครื่องดื่มฟรีตลอดทั้งงาน โดย อเมซอน และน้ำแร่มองต์เฟลอ พร้อมทั้งของที่ระลึกวิทยากรสนับสนุนโดย บริษัทสหพัฒน์พิบูลย์ จำกัด (มหาชน)
###