สศท. ส่งเสริมการนำ GI ต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มงานศิลปหัตถกรรมไทย

   สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ สศท. จัดนิทรรศการผลงานต้นแบบจากโครงการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ SACIT Concept : Geographical Indications of Art and Crafts กว่า 60 ผลงาน พร้อมจัดเวที Craft Design Matching ระหว่างผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการสินค้าหัตถกรรม GI กับนักออกแบบ ในงาน Crafts Bangkok 2024 ระหว่างวันที่ 24-28 สิงหาคมนี้ ที่ไบเทค บางนา



   นางพรรณวิลาส แพพ่วง รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย กล่าวว่า สศท. ให้ความสำคัญด้านการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย เพื่อผลักดันให้เกิดการผลิตงานศิลปหัตถกรรมได้อย่างยั่งยืน และการพัฒนาผลิตภัณฑ์งานคราฟต์ให้ตอบโจทย์ความท้าทายใหม่ของตลาดโลก ดังนั้นการประยุกต์ใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อนำมาช่วยให้ผลิตภัณฑ์งานศิลปหัตถกรรมไทยมีความโดดเด่นเฉพาะตัว สามารถพัฒนาได้อย่างเข้มแข็ง พร้อมทั้งผลักดันผู้ผลิตงานหัตถกรรมสร้างการเติบโตทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และผลักดันให้ผู้ผลิตงานศิลปหัตถกรรมไทยได้ริเริ่มการยื่นจดความคุ้มครองในทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่สินค้าหัตถกรรมไทยอย่างมีมาตรฐาน



   ในปี 2567 สศท. ได้ดำเนินโครงการ SACIT Concept ซึ่งเป็นกิจกรรมการคิดสร้างสรรค์ผ่านเครือข่ายผู้ผลิตงานศิลปหัตถกรรมไทยในพื้นที่ GI (สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) โดยการทำงานร่วมกันระหว่าง “ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการสินค้าหัตถกรรม GI” กับ “นักออกแบบ” โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยที่เกี่ยวข้องกับการนำวัสดุ วัตถุดิบ การทำสีเทคนิคพิเศษ รวมถึงการออกแบบสร้างสรรค์ผลงานผ่านรูปทรง และฟังก์ชั่นการใช้งาน ให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ และการสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ผ่านการนำเสนอผลงาน

   รวมไปถึงเรื่องราวในการเล่าเรื่องแนวคิดการเริ่มต้นสร้างสรรค์ผลงาน จนเกิดเป็นผลงานผลิตภัณฑ์ต้นแบบ กว่า 60 ผลงาน ภายใต้แนวคิด “GI Smart Craft Combinations” จากกลุ่มผู้ผลิตงานหัตถกรรมทั่วประเทศ 30 ราย ประกอบด้วย สมาชิก สศท. อาทิ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม กลุ่มช่างฝีมือ ชุมชนหัตถกรรม ผู้ประกอบการทั่วไป และนักออกแบบ 10 ราย ที่ร่วมผนึกกำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย ยกระดับคุณค่าของพื้นที่ GI ด้วยการหยิบยกการใช้ทุนในพื้นที่ อาทิ ทุนทางประวัติศาสตร์ ทุนทางสังคมและวัฒนธรรม ทุนสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับงานศิลปหัตถกรรมไทย



   ซึ่งผลงานทั้ง 60 ผลงานนี้ สศท. ได้สนับสนุนและส่งเสริมให้ได้รับการยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้องค์ความรู้และภูมิปัญญาในการสร้างสรรค์งานหัตถกรรมได้รับความคุ้มครอง เป็นที่ยอมรับและน่าเชื่อถือในระดับบสากลต่อไป”

   ด้านนางสาววันวรรษา ชุนจำรัส ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม กล่าวว่า ปีนี้ สศท. ปรับการพัฒนาขึ้นมาใหม่ โดยสนับสนุนกลุ่มคนสามกลุ่ม ทำงานร่วมกันมากขึ้นในรูปแบบของ Co Creation ระหว่างผู้เชี่ยวชาญช่วยคัดเลือกนักออกแบบและผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทยชั้นครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และผู้ประกอบการงานหัตถกรรม สศท. ได้นำทั้งสองกลุ่มมา Matching กัน เพื่อให้ทั้งสองกลุ่มใช้ทุนทางวัฒนธรรม ทางสังคมและทางสิ่งแวดล้อมที่ตัวเองมีในการสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อให้ผลงานที่ได้รักษาไว้ซึ่งองค์ความรู้ดั้งเดิมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของพื้นที่ตัวเองและ สามารถตอบสนองวิถีชีวิต และความต้องการของปัจจุบันของคนทุกกลุ่ม ทุกวัย ได้ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “GI Smart Craft Combinations” นี่คือการผสมที่ลงตัวที่สุดเท่าที่เคยทดลองมา

   นายภูสิษฐ์ จาตุรงคกุล ที่ปรึกษาพาณิชย์นวัตกรรม บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด กล่าวว่า จากที่มีกิจกรรมในโครงการที่ผ่านมา จะได้เห็นร่องรอยใหม่ ๆ เป็นการนำสิ่งที่เป็นทุนเดิมเป็นภูมิปัญญาเดิม มาเจอกับนักออกแบบและได้ไอเดียใหม่ๆ เกิดร่องรอยใหม่ๆ เกิดขึ้น ทำให้ผลิตภัณฑ์เติบโตเข้าสู่ตลาดนั้น แตกต่าง ดีกว่า โดนใจตลาดและมีจุดจดจำหรือมีจุดยืนที่ชัดเจน ซึ่งเรื่องราวแบบนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดกระแสใหม่ๆ และการตอบรับใหม่ๆ แก่ผู้บริโภคในมุมใหม่ๆ และเชื่อว่าจากโครงการนี้ จะทำให้ผู้ประกอบการได้เกิดการเรียนรู้และนำแนวคิดเป็นผลพลอยได้นำไปสู่การพัฒนาและต่อยอดได้ดียิ่งๆ ขึ้น

   สศท. ขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมค้นหาแรงบันดาลใจ เติมพลังความคิดสร้างสรรค์จากงานศิลปหัตถกรรมฝีมือคนไทย ที่นิทรรศการ SACIT Concept 2024 ในงาน Crafts Bangkok 2024 ระหว่างวันที่ 24 – 28 สิงหาคม นี้ เวลา 10.00-20.00 น. ณ ฮอลล์ 98-99 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค

###