TBCSD Sustainable Business Forum 2024 TBCSD ร่วมสร้างแรงขับเคลื่อนภาคธุรกิจไทย เพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน

        องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Thailand Business Council for Sustainable Development: TBCSD) ได้จัดงานประจำปี พ.ศ. 2567 “TBCSD Sustainable Business Forum 2024 : Act Now Towards a Sustainable Future”ขึ้น ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัล พลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพฯโดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อเป็นการแสดงจุดยืนของการเป็นผู้นำในภาคธุรกิจไทยด้านความยั่งยืนที่ทันกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกและตอบโจทย์ทิศทางการพัฒนาของประเทศ โดยการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมิติต่างๆสอดคล้องกับนโยบายสำคัญของประเทศให้ก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

       โดยในงานครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาเป็นประธานกล่าวเปิดงานกล่าวว่า “TBCSD ได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 31 บนเส้นทางการดำเนินงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยได้มีส่วนร่วมที่สำคัญในการส่งเสริมและขับเคลื่อนให้ภาคธุรกิจ ร่วมกับภาครัฐ และภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย กลุ่ม TBCSD จึงถือว่าเป็นเครือข่ายภาคธุรกิจไทยที่ใหญ่ที่สุดเครือข่ายหนึ่งของประเทศที่ร่วมมือกันทำงานเรื่องความยั่งยืนมามากกว่า 30 ปี โดย TBCSD มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการส่งเสริมให้องค์กรภาคธุรกิจไทยให้ก้าวพัฒนาไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญในการดำเนินงานธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ รวมทั้ง การสนับสนุนการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศร่วมกับทางรัฐบาล”

      TBCSD ได้ร่วมกับองค์กรพันธมิตรในการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของภาคธุรกิจไทย เพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสังคมคาร์บอนต่ำโดยผู้บริหารจากองค์กรพันธมิตร TBCSD ได้มาร่วมนำเสนอข้อมูลภายใต้หัวข้อ เทรนด์ “NET ZERO” กับโอกาสการลงทุนที่ยั่งยืนขององค์กรภาคธุรกิจไทยเกี่ยวกับการผลักดันโอกาสให้แก่องค์กรภาคธุรกิจไทยในการปรับตัวเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย “NET ZERO” เพื่อสร้างโอกาสจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน

       นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า “วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจในหลากหลายแง่มุม ในขณะเดียวกันก็สามารถสร้างโอกาสให้กับธุรกิจที่สามารถปรับตัวได้ทันการณ์ ปัจจุบันเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านและปรับตัวของทุกองค์กร ซึ่งทั้งหน่วยงานกำกับและนักลงทุนต่างก็มีส่วนผลักดันให้ธุรกิจเปลี่ยนผ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้การปรับตัวให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ท้าทายต่อภาคธุรกิจ ดังนั้นตลาดหลักทรัพย์ฯ ในฐานะตัวกลางการพัฒนาความยั่งยืนในตลาดทุน จึงได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทจดทะเบียนมีความพร้อมในการปรับตัวผ่านโครงการพัฒนาที่หลากหลาย เช่น การให้คำปรึกษาในการคำนวณและตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก และการพัฒนาระบบ SET Carbon ซึ่งจะช่วยให้องค์กรคำนวณและวิเคราะห์หาแนวทางการจัดการได้ อันจะนำไปสู่การลงทุนเพื่อพัฒนากระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในยุค Low Carbon Economy”

       ดร.ชนะ ภูมี รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ ประธานสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนกล่าวว่า “นโยบายของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ภายใต้นโยบาย one FTI ที่ส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านไปยังอุตสาหกรรมใหม่ที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนและการก้าวสู่ Net Zero ของประเทศไทย”

       นอกจากนี้ TBCSD ยังได้รับเกียรติจากผู้บริหารของสมาชิก TBCSD จำนวน 3 องค์กรด้วยกันในการนำเสนอกลยุทธ์สำคัญในการมุ่งขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน ในช่วง CEO Forum : Move forward Challenges and Directions for Net Zeroได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (กลุ่มการเงิน) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (กลุ่มทรัพยากร) และ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) (กลุ่มเทคโนโลยี) ซึ่งแต่ละบริษัทเป็นผู้แทนของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่มีบทบาทสำคัญในการยกระดับมาตรฐานขององค์กรภาคธุรกิจไทยไปสู่การเป็นองค์กรต้นแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน

       นายพิพิธ เอนกนิธิ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero คือ การใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ Nature-based Solutions  ซึ่งธนาคารได้ดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์จากการดำเนินงานของธนาคารอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนทั้งด้านการเงิน เครื่องมือ และความรู้ ให้ลูกค้าสามารถนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมไปใช้กับธุรกิจของตนเอง ให้สามารถเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจสีเขียวและยั่งยืนได้ รวมถึงมีการหาโอกาสและสร้างธุรกิจใหม่เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้แก่ธนาคาร นอกจากนี้ ธนาคารได้ตระหนักถึงความเสี่ยงทางกายภาพจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ก่อให้เกิดภัยพิบัติต่างๆ ซึ่งสร้างความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นอย่างมาก ธนาคารจึงเป็นหนึ่งในภาคเอกชนที่เห็นความสำคัญและเป็นแกนกลางในการสนับสนุนให้ภาครัฐและประชาชนสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันในการแก้ไขปัญหาป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดินทำกินในจังหวัดน่านในรูปแบบประชารัฐ อีกทั้งปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำการเกษตรเชิงเดี่ยวไปสู่การผลิตแบบใหม่หรืออาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภายใต้การดำเนินงานโครงการน่านแซนด์บอกซ์ ซึ่งเป็นความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ช่วยให้คนในพื้นที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างสมดุลและยั่งยืน”

       นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุลประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า“ปตท.สผ. เป็นบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของคนไทย ซึ่งดำเนินธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศ โดยปัจจุบันได้ขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจพลังงานสะอาด และนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการดำเนินงาน รวมทั้ง เทคโนโลยีที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อเป้าหมายการเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ โดยหนึ่งในเทคโนโลยีที่สำคัญ คือ การดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Capture and Storage (CCS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้ในปริมาณมาก ซึ่ง ปตท.สผ. กำลังศึกษาและพัฒนาโครงการ CCS ครั้งแรกในประเทศไทยที่แหล่งก๊าซธรรมชาติอาทิตย์ในอ่าวไทย
เพื่อช่วยสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายของประเทศไทยในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังเชื่อมั่นในการสร้างความยั่งยืนจากภายในผ่านการดำเนินงานที่ดี บนรากฐานธุรกิจที่แข็งแกร่ง เพื่อส่งมอบคุณค่าในระยะยาวให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม และให้ความสำคัญกับการสร้างพันธมิตรและความร่วมมือในด้านธุรกิจ ควบคู่กับการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในด้านการพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกัน”

       นายปฐมภพ สุวรรณศิริประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า “ไทยคม มีเจตนารมณ์ในการสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศไทย โดยเฉพาะในด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เราจึงใช้ความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีอวกาศ (Space Tech) มาพัฒนาเป็นแพลตฟอร์ม CarbonWatch เพื่อเป็นเครื่องมือในการประเมินการกักเก็บคาร์บอนในป่าไม้ ด้วยการใช้เทคโนโลยีดาวเทียม และ AI ซึ่งได้รับการรับรองจาก อบก. เป็นรายแรกในภูมิภาคอาเซียน สามารถประเมินการกักเก็บคาร์บอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม่นยำ รวดเร็ว และคุ้มค่ากว่าวิธีดั้งเดิม นับว่าเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยตอบโจทย์ความท้าทายในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065”

        โดยในช่วงของการเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่ความยั่งยืนของโลก นอกจากจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในภาคพลังงานแล้วยังเกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีและนวัตกรรม จากทิศทางการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ภายในงานได้มีการนำเสนอของสมาชิก TBCSD จากกลุ่มทรัพยากรที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนด้านพลังงานของประเทศ ภายใต้หัวข้อ “อนาคตพลังงานไทย เพื่อสนับสนุนการก้าวไปสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน”ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

       นายธวัชชัย สำราญวานิชรองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยกล่าวว่า “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. เป็นหนึ่งในกลไกของรัฐที่ร่วมขับเคลื่อนธุรกิจไทยสู่ความยั่งยืน และมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality 2050 จากภารกิจในการรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้าไทยในราคาค่าไฟฟ้าที่แข่งขันได้ ร่วมกับการดูแลชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด EGAT for ALL”

       นายรัฐกร กัมปนาทแสนยากร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ความยั่งยืนองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า “ปตท. ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจบนหลักยั่งยืนอย่างสมดุล สร้างความมั่นคงทางพลังงาน ควบคู่กับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก บูรณาการครอบคลุมทุกกิจกรรมการดำเนินงาน เพื่อขับเคลื่อนให้ ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน”

       รวมถึง องค์กรพันธมิตร และองค์กรสมาชิก TBCSD ได้ร่วมกันประกาศจุดยืนในการเป็นผู้นำของภาคธุรกิจไทยด้านความยั่งยืนที่ทันกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกและตอบโจทย์ทิศทางการพัฒนาของประเทศ เพื่อร่วมสนับสนุนประเทศไทยให้ก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

       ด้วยความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งขององค์กรสมาชิก และการทำงานร่วมกันกับองค์กรพันธมิตร และเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ TBCSD จึงเป็นผู้นำในการยกระดับให้มีการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนในวงกว้างและสนับสนุนประเทศไทยให้ก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำและการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง

 ###