การติดตาม และประเมินผลตามนโยบาย กสทช. ที่สำคัญในด้านการส่งเสริมสิทธิ และเสรีภาพของประชาชนประจำปี 2567

ภายใต้หัวข้อ “การส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ในการเข้าถึง และใช้ประโยชน์จากโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล (Zone C) และพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) ที่ กสทช.ดำเนินการ” วันที่ 16 มกราคม 2568 ณ ห้องลาเวนเดอร์ 1-3 ชั้น 3 อาคาร TK. 3 โรงแรม ทีเค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพมหานคร

 

   พลเรือเอก ประสาน สุขเกษตรประธานกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.)และ กตป. ด้านการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) พร้อมที่ปรึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.อัศวิน  เนตรโพธิ์แก้ว หัวหน้าโครงการ พร้อมคณะทำงาน

   ร่วมจัดการประชุมเพื่อรายงานผลการดำเนินงาน ที่ได้ทำการเก็บรวบรวมและสำรวจข้อมูล ข้อเท็จจริง ข้อเสนอแนะของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วยการสังเคราะห์ข้อมูลจากเอกสาร การสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน 17 ตัวอย่าง และการจัดสนทนากลุ่ม 5 ภูมิภาค รวมทั้งสิ้น 15 จังหวัด และเก็บข้อมูลเชิงปริมาณด้วยแบบสอบถามจำนวน 2,500 ชุด รวมทั้งดำเนินการสุ่มตรวจพื้นที่ในหมู่บ้านพื้นที่ห่างไกล (Zone C) และพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) ที่ กสทช. ดำเนินการติดตั้งระบบเรียบร้อยแล้วตั้งแต่เดือนสิงหาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน 2567

   พบว่า โครงการฯ ช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เพิ่มขึ้น โดยผลการวิจัยเชิงปริมาณ ชี้ให้เห็นถึง การรับรู้สิทธิและเสรีภาพในการใช้บริการโทรคมนาคม USO Net ของประชาชน  รวมถึงปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินโครงการ  โดยได้ประเมินประสิทธิภาพการดำเนินงานของ กสทช. ในด้านการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการเข้าถึงโครงการ USO Net ตามหลักธรรมาภิบาลการกำกับดูแลที่ดี

   นอกจากนี้ ยังได้มีการสัมภาษณ์เชิงลึกถึง ความเป็นมาของโครงการ  การบริหารจัดการ  ปัญหาและอุปสรรค  และศักยภาพของโครงการ USO Net ในการพัฒนาเป็นศูนย์บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ  รวมถึงการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับ สิทธิและเสรีภาพในการเข้าถึงโครงการ  ช่องทางการรับรู้  และความต้องการของชุมชนในการใช้บริการ เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์บริการดิจิทัลแบบครบวงจร

   ผลการวิจัยยังได้นำเสนอข้อเสนอแนะในการพัฒนาโครงการ USO Net ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  เช่น  การขยายจุดให้บริการให้ครอบคลุม  การจัดอบรมให้ความรู้แก่ประชาชน  และการส่งเสริมให้ศูนย์ USO Net เป็นศูนย์ช่วยเหลือคนพิการในการเข้าถึงบริการดิจิทัลแต่ยังคงมีปัญหาและข้อจำกัด เช่น สัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่ครอบคลุม  ความเร็วอินเทอร์เน็ตไม่เสถียร  ขาดแคลนอุปกรณ์  และความรู้ในการใช้งานเทคโนโลยี

   ซึ่ง กสทช. ยืนยันจะนำข้อเสนอแนะไปพัฒนาโครงการ USO Net ให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเต็มที่และลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลในประเทศ

###