ซัมซุงเปิดตัว8โปรเจกต์AIสุดล้ำที่พัฒนาจาก C-Labในงาน CES 2019 พร้อมจัดแสดงนวัตกรรมทั้ง 8 โปรเจกต์ และผลิตภัณฑ์จากสตาร์ทอัพอีกมากมายที่พัฒนาขึ้นจาก C-Lab

รายละเอียดโครงการต่างๆ ของC-Lab8 โครงการ

1. Tisplay

   ‘Tisplay’เป็นบริการโฆษณาเสมือนแบบin-video ที่สามารถใช้ได้ทันทีในระหว่างการทำสตรีมมิ่ง Tisplayสามารถตรวจจับพื้นผิวของส่วนที่เป็นเสื้อผ้าของผู้ที่กำลังทำสตรีมมิ่งและจัดวางโฆษณาลงไปในพื้นที่ส่วนนั้นได้อย่างชาญฉลาดราวกับมันได้ถูกพิมพ์อยู่บนเสื้อผ้าจริงๆ ผ่านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์กราฟฟิก ผู้ทำสตรีมมิ่งสามารถเลือกได้ว่าจะวางรูปอะไรลงไปโดยไม่จำกัดอยู่แค่ตัวโฆษณา สามารถสื่อข้อความที่ต้องการ และตรงกับคอนเทนต์ในขณะนั้นไปยังผู้ชมได้แบบ real-time นอกจากนี้ ผู้ชมยังได้ประโยชน์เพราะสามารถดูวีดีโอได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องสะดุดหยุดกับโฆษณา “คั่นรายการ” ที่โผล่ขึ้นมาราวกับเป็นสแปม

 

2. aiMo

   ‘aiMo’เป็นโซลูชั่นบันทึกเสียง ASMR ผ่านสมาร์ตโฟนและเคสที่สามารถกระตุ้นสัมผัสใหม่ให้กับการรับฟัง หากบันทึกคอนเทนต์ด้วยโซลูชั่น ASMR ผู้ทำคอนเทนต์ไม่เพียงจะสร้างสรรค์เสียงที่คมกว่า ระบุทิศทางของเสียงได้ชัดเจนกว่าเท่านั้น แต่ยังสามารถสร้างเสียง ASMR ที่สมจริงผ่านเสียงเสริมจากซอฟต์แวร์ AI โดยไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์บันทึกเสียงในระดับมืออาชีพ ใครๆ ก็สามารถสร้างคอนเทนต์ที่มีเสียง ASMR คุณภาพสูงได้ง่ายๆ แม้อยู่นอกห้องอัด

 

3. MEDEO

   ‘MEDEO’มอบบริการจัดทำวีดีโอแบบฉับไว ช่วยให้ผู้ใช้สามารถถ่ายทำและตัดต่อวีดีโอได้ทันใจในชั่วพริบตา MEDEO จะวิเคราะห์ฉากและสภาพแวดล้อมรอบๆ โดยอาศัยเทคโนโลยี AI จากนั้นจะผสานวิชวลเอ็ฟเฟ็กต์ ดนตรีฉากหลัง และวีดีโอที่อัดมาแล้วล่วงหน้าลงไปในขณะทำสตรีมมิ่งได้ทันทีโดยอัตโนมัติ นอกจากนั้น ยังสามารถแยกดึงเฉพาะฉากสำคัญของวีดีโอมาแสดงได้ง่ายๆ ในระดับมือโปรผ่านกลไกอัตโนมัติที่ใช้ได้ภายในคลิ้กเดียว

 

4. PRISMIT

   ‘PRISMIT’ เป็นบริการวิเคราะห์ข่าวโดย AI ที่สามารถสร้างไทม์ไลน์จัดลำดับเหตุการณ์เพื่อช่วยให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เมื่อผู้อ่านค้นหาเรื่องหรือเหตุการณ์ใดๆ PRISMIT จะคัดสรรบทความที่เกี่ยวข้องและตรงที่สุดห้าอันดับต้นจากบทความมากมายทั้งหมดมาแสดงโดยอัตโนมัติผ่านการใช้เทคโนโลยีจัดกลุ่มเรื่องราว ช่วยให้ผู้อ่านได้เข้าใจบริบทและประวัติของเรื่องราวนั้นๆ ได้อย่างแท้จริง ต่างจากบริการอื่นๆ ที่เลือกแสดงเฉพาะบทความที่มีผู้อ่านมากที่สุด หรือบทความล่าสุดเท่านั้น

 

5. Perfume Blender

   ‘Perfume Blender’เป็นบริการปรุงน้ำหอมตามสั่ง ช่วยให้ผู้ใช้สามารถรังสรรค์กลิ่นโปรดได้ตามใจชอบเพียงมีอุปกรณ์ที่รองรับการใช้งาน และสามารถแชร์สูตรผ่านแอปได้อย่างง่ายดาย เมื่อผู้ใช้ถ่ายรูปน้ำหอมรุ่นสุดโปรดผ่านแอปนี้ มันจะทำการวิเคราะห์ส่วนผสมหลักและเสนอทางเลือกของกลิ่นต่างๆ ที่ผู้ใช้งานน่าจะชอบ จากนั้นผู้ใช้สามารถสร้างน้ำหอมตามสูตรนั้นได้ทันที หรือจะสร้างสรรค์กลิ่นใหม่ผ่านการปรับอัตราส่วนของส่วนผสมต่างๆ ที่มีให้เลือกถึง 8 รายการผ่านอุปกรณ์นี้ และยังสามารถเลือกซื้อกลิ่นเพิ่มได้ตามชอบใจ

 

6. Girin Monitor Stand

   ‘Girin Monitor Stand’ เป็นที่วางจอภาพแบบปรับเองได้โดยอัตโนมัติ เพื่อให้ผู้ใช้งานมีการจัดสรีระที่ถูกต้องเมื่อใช้งานคอมพิวเตอร์ เซ็นเซอร์ที่ฝังอยู่จะตรวจจับและบันทึกตำแหน่งสรีระของผู้ใช้งานในแบบ real-timeโดยเฉพาะในส่วนคอและศีรษะทันทีที่ผู้ใช้งานเริ่มจัดวางสรีระไม่ถูกต้อง อุปกรณ์นี้จะค่อยๆ เลื่อนหน้าจอไปในทิศทางที่จะทำให้ผู้ใช้งานต้องปรับเปลี่ยนสรีระ เป็นการฝึกให้ผู้ใช้งานมีท่วงท่าที่ดีขึ้นและถูกต้องตามธรรมชาติโดยที่อาจจะไม่สังเกตุเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของตำแหน่งหน้าจอ ผู้ใช้จะสามารถปรับเปลี่ยนท่าทางให้ดีขึ้นได้ผ่านการทำซ้ำพฤติกรรมที่ถูกต้อง และสามารถลดปัญหา หรือหลีกเลี่ยงอาการปวดตึงเมื่อยล้าบริเวณคอ บ่า ไหล่ และหลังได้

 

7. alight

   ‘alight’ เป็นแสง AI ตั้งโต๊ะที่จะสร้างบรรยากาศที่ดีที่สุดในการเพิ่มสมาธิ และให้ระดับแสงที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้ใช้งาน alight จะตรวจจับท่าทางของผู้ใช้งานผ่านกล้องในตัว และจะปรับระดับแสงให้เข้ากับสถานการณ์โดยอัตโนมัติ เช่น เมื่ออ่านหนังสือ เมื่อพักผ่อน หรือเมื่อทำงานที่ต้องใช้สมาธิ alight มาพร้อมตัวควบคุมที่จะคอยเตือนผู้ใช้ให้กลับมาโฟกัสกับหนังสือที่อ่านหรืองานที่ทำอยู่ ในกรณีที่ผู้ใช้เริ่มหันไปให้ความสนใจกับโทรศัพท์หรือง่วงนอน นอกจากนั้น มันยังสามารถจัดเก็บประวัติการอ่านหนังสือ พร้อมวีดีโอ time-lapse ผ่านแอปได้ด้วย

 

8. SnailSound

   SnailSoundเป็นโซลูชั่นช่วยฟังสำหรับผู้ที่มีปัญหาทางการได้ยิน โซลูชั่นนี้ประกอบไปด้วยอุปกรณ์ช่วยฟังและแอปสำหรับใช้งานที่สามารถวิเคราะห์เสียงที่ผู้ใช้งานชอบผ่านการทดสอบการรับฟังแบบง่ายๆ จากนั้นจะทำการปรับค่าให้เสียงนั้นคมชัดยิ่งขึ้น SnailSoundสามารถขยายเสียงที่ไม่ได้ยินและลดเสียงพื้นหลังได้ผ่านอัลกอริธึ่มลดเสียงรบกวนที่ปรับระดับได้ด้วย AI และเทคโนโลยีขยายเสียงอัจฉริยะแบบไม่ใช่เชิงเส้น ในขณะเดียวกัน ยังสามารถมอบประสบการณ์การได้ยินที่ดีขึ้นให้กับผู้มีปัญหาทางการได้ยินโดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยฟังราคาแพง

###

   ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ ประกาศเปิดตัวสุดยอดโครงการนวัตกรรมล่าสุดด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) จำนวน 8 โครงการในงาน CES 2019 Eureka Park ที่จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 8 ถึง 11 มกราคม 2562 โดยโครงการทั้งหมดนี้ได้รับการพัฒนาขึ้นจากC-Lab (Creative Lab) ของซัมซุง พร้อมกันนี้ สตาร์ทอัพทั้ง 8 บริษัทฯ ที่ได้ถือกำเนิดขึ้นจากการต่อยอดโครงการของ C-Lab จะจัดแสดงผลิตภัณฑ์ต่างๆ สำหรับผู้บริโภคในงาน CES ด้วยเช่นกันเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ

   โครงการใหม่8 โครงการของ C-Lab ได้แก่ ‘Tisplay’ บริการโฆษณาเสมือนแบบ in-video, ‘aiMo’ โซลูชั่นบันทึกเสียง ASMR, ‘MEDEO’ บริการจัดทำวีดิโอฉบับฉับไว, ‘PRISMIT’บริการ AI วิเคราะห์ข่าว, ‘Perfume Blender’บริการปรุงน้ำหอมเฉพาะบุคคล, ‘Girin Monitor Stand’ จอภาพแบบปรับเองได้อัตโนมัติ, ‘alight’ อุปกรณ์แสง AI ตั้งโต๊ะที่จะสร้างบรรยากาศที่ดีที่สุดในการเพิ่มสมาธิ และ‘SnailSound’โซลูชั่นช่วยฟังสำหรับผู้ที่มีปัญหาทางการได้ยิน

   สำหรับงาน CES 2019 นี้เป็นครั้งแรกที่ C-Lab จะเปิดตัวโครงการต่างๆ มากที่สุดเท่าที่เคยทำมานับตั้งแต่การเปิดตัวโครงการที่งาน CES ครั้งแรกในปี 2016 ซึ่งการเผยโฉมโครงการต่างๆ จะช่วยขัดเกลาให้การสร้างต้นแบบมีประสิทธิภาพและตรงความต้องการมากที่สุด เพื่อสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จที่สมบูรณ์แบบและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ดีที่สุด

   “ในงานนี้เราจะจัดแสดงโครงการอันน่าสนใจของ C-Lab ที่ได้ผสานเทคโนโลยี AI ลงไปในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการสร้างคอนเทนต์วีดีโอ การปรุงน้ำหอม และด้านอื่นๆ อีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวัน โดยคาดว่าน่าจะถูกใจผู้มาเยี่ยมชมในงานบ้าง ไม่มากก็น้อย” อินกุก ฮาน รองประธานและหัวหน้าศูนย์นวัตกรรมและการสร้างสรรค์ของซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ กล่าว

   นอกเหนือจากโครงการต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ยังมีสตาร์ทอัพอีก8 บริษัทฯ ที่เกิดขึ้นจากการต่อยอดของโครงการC-Labจากซัมซุง สตาร์ตอัพทั้ง8 ได้แก่ MOPIC, LINKFLOW, lululab, WELT, บริษัท Cooljamm, MONIT, BLUEFEELและ analogue plusซึ่งทั้งหมดนี้จะเข้าร่วมงาน CES 2019ด้วยเช่นกัน เพื่อจัดแสดงและเปิดตัวผลิตภัณฑ์ล่าสุดสำหรับผู้บริโภค พร้อมกับปูทางเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจในระดับสากล

   C-Lab ได้รับการจัดตั้งขึ้นในเดือนธันวาคม 2012 โดยเริ่มจากการเป็นโครงการภายในองค์กรเพื่อกระตุ้นวัฒนธรรมแห่งการสร้างสรรค์ขององค์กร และให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ของพนักงานซัมซุง โดยโครงการนี้จะสนับสนุนการพัฒนาไอเดียทางธุรกิจใหม่ๆ ในทุกมิติ ในปี 2015 นโยบาย C-Lab Spin-off ได้ถือกำเนิดขึ้น และช่วยให้พนักงานซัมซุงที่สามารถสร้างสรรค์โครงการของ C-Lab จนประสบความสำเร็จสามารถเปิดตัวธุรกิจสตาร์ทอัพของตนเองขึ้นมา ซึ่งซัมซุงได้ให้ความช่วยเหลือแก่บริษัท spin-off ต่างๆ เหล่านี้ โดยการให้เม็ดเงินลงทุนและบริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจเพื่อสร้างความเติบโตให้กับบริษัทโดยที่จะไม่ก้าวก่ายในเรื่องการบริหารจัดการ