สิริ เวนเจอร์ส ผนึก สวทช. พัฒนา รถยนต์ไร้คนขับ นำร่องทดสอบร่วมกับ โดรนเดลิเวอรี่ และ ระบบเซนเซอร์รักษาความปลอดภัยด้วยเสียง

ครั้งแรก! กับ SIRI VENTURES Private PropTech Sandbox ที่ T77 

รุกหน้าขับเคลื่อน  Property Disruption ไทย เพิ่มนวัตกรรมการอยู่อาศัยให้ลูกบ้านแสนสิริ

บุคคลในภาพ(จากซ้ายไปขวา)

1. ดร.ตัน โย้ว คี ประธานกรรมการ SoundEye 

2. ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 

3. นายอมเรศ ชุมสาย ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIROVR

4. นายจิรพัฒน์ จันทร์เจิดศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี บริษัท สิริ เวนเจอร์ส จำกัด

5. นายไมเคิล บรูซ เคอรี่ ประธานกรรมการ Fling

6. นายจีรวัฒน์ กุลทรัพย์อุดม Head of Ecosystem บริษัท สิริ เวนเจอร์ส จำกัด

 

   สิริ เวนเจอร์ส ผู้นำของวงการ PropTech ไทย เผยแผนทดสอบนวัตกรรมเพื่อการอยู่อาศัยใน SIRI VENTURES Private PropTech Sandbox เปิดตัว 3 สตาร์ทอัพแห่งอนาคต AIROVR เทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับ Fling นวัตกรรม  โดรนเดลิเวอรี่ และ SoundEye ระบบเซนเซอร์รักษาความปลอดภัยอัจฉริยะ ตรวจสอบเสียงผิดปกติ นำร่องพัฒนาและทดลองใช้จริงเป็นกลุ่มแรก จับมือ สวทช. สร้าง 3D Mapping เชื่อมโยงรถยนต์ไร้คนขับ เตรียมทดลองวิ่งจริงไตรมาส 4 นี้ ครึ่งปีหลังจ่อลงทุนในสตาร์ทอัพ 4 ด้าน รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 600 ล้านบาท พร้อมสรุปภาพรวมความสำเร็จครึ่งปีแรกของ 2019 ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยี (PropTech) ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย  ให้ก้าวล้ำไปอีกขั้น ตลอดจนสร้างสรรค์และส่งต่อนวัตกรรมการใช้ชีวิตที่ไร้รอยต่อในยุคดิจิทัลให้กับลูกบ้านแสนสิริ

   นายจิรพัฒน์ จันทร์เจิดศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี บริษัท สิริ เวนเจอร์ส จำกัด (SIRI VENTURES) เปิดเผยว่า หลังจากได้ประกาศแผนจัดพื้นที่เฉพาะสำหรับทดสอบ พัฒนา และประมวลเสมือนจริงของเหล่าสตาร์ทอัพเพื่อต่อยอดนวัตกรรมสำหรับการพักอาศัยสำหรับลูกบ้านแสนสิริ ภายใต้ชื่อ SIRI VENTURES Private PropTech Sandbox”  เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ล่าสุดบริษัทได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ 3 สตาร์ทอัพศักยภาพ เพื่อเข้าร่วมพัฒนาและทดลองใช้นวัตกรรมเพื่อการอยู่อาศัยแห่งอนาคตในช่วงครึ่งปีหลัง   ภายในพื้นที่ SIRI VENTURES Private PropTech Sandbox ที่โครงการ T77

   สำหรับนวัตกรรมที่จะเข้ามาพัฒนาและทดลองใช้ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ 1.รถยนต์ไร้คนขับ (Autonomous Car) ภายใต้ความร่วมมือกับ AIROVR สตาร์ทอัพผู้พัฒนาระบบสำหรับรถยนต์ไร้คนขับสัญชาติไทย และ สวทช. ในฐานะหน่วยงานชั้นนำของประเทศในด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ โดย AIROVR จะพัฒนาระบบที่จำเป็นสำหรับ “รถยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับ” ในการขนส่งผู้โดยสารจากโครงการที่อยู่อาศัยไปยังรถไฟฟ้า (First Mile Transportation) และการขนส่งจากรถไฟฟ้ากลับมายังโครงการที่อยู่อาศัย (Last Mile Transportation) ขณะที่ สวทช. จะช่วยพัฒนาแพลตฟอร์มเทคโนโลยีที่จำเป็น ได้แก่ ระบบ Drive-by-Wire การบูรณาการเซนเซอร์สำหรับรถยนต์ไร้คนขับ           ระบบบ่งชี้ตำแหน่งและการนำทาง ระบบควบคุมและสั่งการ และ แผนที่ 3D ความละเอียดสูง เพื่อให้สามารถวิ่งได้จริงในโครงการ T77

   “เรื่องการขนส่ง First Mile and Last Mile Transportation เป็นเรื่องที่เริ่มเกิดขึ้นจริงแล้วในต่างประเทศ เรามองเห็นโอกาสที่จะร่วมส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวให้เกิดขึ้นจริงในไทย เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายของการอยู่อาศัยและการใช้ชีวิต เริ่มต้นจากการนำร่องทดลองวิ่งเฉพาะภายในโครงการ T77 ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้  ซึ่งถือเป็นการทดลองวิ่งรถยนต์ไร้คนขับเชิงพาณิชย์ครั้งแรกในไทย” นายจิรพัฒน์ กล่าว

  1. โดรน เดลิเวอรี่ (Drone Delivery) ภายใต้ความร่วมมือกับ Fling สตาร์ทอัพผู้พัฒนาโดรนสัญชาติไทย โดย Fling จะนำโดรนมาใช้ทดลองส่งสินค้าจาก Habito Mall ไปยังโครงการคอนโดมิเนียมของแสนสิริในพื้นที่โครงการ T77 คาดว่าจะเริ่มทดลองได้ หลังจากผ่านขั้นตอนการขออนุญาตหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

  1. การดูแลรักษาความปลอดภัย (Security) ภายใต้ความร่วมมือกับ SoundEye สตาร์ทอัพผู้พัฒนาแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ (AI) พร้อมเทคโนโลยีเรียนรู้เสียงต่างๆ เพื่ออาคารอัจฉริยะ (Smart Building) รายแรกของโลก ที่ผ่านมา ไมโครโฟนเซนเซอร์ของ SoundEye ได้เข้าไปมีส่วนช่วยตรวจจับเสียงผิดปกติ อาทิ เสียงร้องขอความช่วยเหลือ เสียงน้ำรั่วซึม เสียงปืน ในอาคารประเภทต่าง ๆ มาแล้วหลายแห่งในสิงคโปร์ รวมถึงในสนามบินชางฮี โดยจะเริ่มทดลองในพื้นที่โครงการ T77 ในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ ซึ่งถือเป็นการทดลองใช้ระบบของ SoundEye ครั้งแรกในโครงการที่อยู่อาศัยอีกด้วย

   “หากสามารถพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ได้จริงในอนาคต เราอาจเห็นรถยนต์ไร้คนขับ ไปจนถึงโดรนที่เป็น Air Taxi    เข้ามา Disrupt เทรนด์การใช้ชีวิต (Living Trends) ให้มีความสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งจุดประกายแนวทางการยกระดับวงการขนส่งไทย และขณะเดียวกัน ยังสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ให้กับวงการอสังหาริมทรัพย์ไทย เพราะการเดินทางของผู้บริโภคจะสะดวกสบายมากขึ้น จนทำเลไม่ใช่ปัจจัยหลักของการเลือกที่อยู่อาศัย ดังนั้น การเป็นพันธมิตรระหว่าง สิริ เวนเจอร์ส สวทช. และสตาร์ทอัพทั้ง 3 ด้านในครั้งนี้ นับเป็นก้าวที่สำคัญ” นายจิรพัฒน์ ย้ำ

   ด้าน ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า  สำนักงานได้มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่มาอย่างต่อเนื่อง นับจากเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า จนมาถึงรถยนต์ไร้คนขับ นอกจากนี้ เรายังมีความร่วมมือกับกระทรวงคมนาคม เพื่อผลักดันนโยบายและกฎระเบียบต่างๆ ในการสนับสนุนและเตรียมความพร้อมประเทศไทยต่อการเข้ามาของเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับในอนาคตอันใกล้นี้ อีกทั้งเรายังได้เตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เช่น ศูนย์เฉพาะทางด้านระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ (Focused Center on Rail and Modern Transport) ศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าและศูนย์ทดสอบรถยนต์ไร้คนขับที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) เป็นต้น ความร่วมมือกับ บริษัท สิริ เวนเจอร์ส จำกัด และ AIROVR ในวันนี้นับเป็นก้าวสำคัญที่จะได้นำเทคโนโลยีที่ สวทช. วิจัยและพัฒนา มาสาธิตการใช้งานในสภาพแวดล้อมจริง เพื่อประโยชน์แก่ทั้งภาคธุรกิจและภาคประชาชน อีกทั้งการจัดทำ 3D Mapping ของโครงการ T77 สามารถนำไปเชื่อมโยงกับ “รถยนต์ไร้คนขับ” ของ AIROVR และ “โดรน เดลิเวอรี่” ของ Fling เพื่อนำไปใช้ในโครงการนำร่องได้อย่างเป็นรูปธรรม

   “วันนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้มาร่วมมือกับ สิริ เวนเจอร์ส และพันธมิตรสตาร์ทอัพ ทำให้โครงการนำร่องนี้เกิดขึ้นได้จริงเป็นครั้งแรกของไทย เพราะเรื่องรถยนต์ไร้คนขับและโดรนไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกแล้ว หลายๆ ประเทศกำลังศึกษาและพัฒนาทั้ง 2 เรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม หากวันนี้เรามีก้าวแรกที่ดี เชื่อว่าเรายังสามารถพัฒนาและประยุกต์รถยนต์ไร้คนขับและโดรนไปพลิกโฉมการใช้ชีวิตของผู้คนได้อย่างมหาศาล” ดร.เจนกฤษณ์กล่าว

   นายจิรพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562 บริษัทยังมีแผนจะลงทุนในสตาร์ทอัพใน 4 ด้าน ภายใต้งบลงทุน 600 ล้านบาท ได้แก่ 1.เทคโนโลยีด้านการก่อสร้าง (ConsTech)ในสัดส่วน 20% ของงบลงทุน มุ่งเน้นเทคโนโลยีที่ช่วยควบคุมคุณภาพการก่อสร้าง (QC) 2.เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน (Sustainablity) ในสัดส่วน 30% มุ่งเน้นด้านการใช้ทรัพยากรอย่างฉลาดและการกำจัดของเสียที่มีประสิทธิภาพ3.เทคโนโลยีด้านอสังหาริมทรัพย์ (PropTech) ในสัดส่วน 20% มุ่งเน้นด้านรูปแบบการใช้ชีวิตแบบใหม่และ Tokenizationและ4.เทคโนโลยีเพื่อการอยู่อาศัยและสุขภาพ (LivingTech & HealthTech) ในสัดส่วน 30% มุ่งเน้นด้านความปลอดภัย ความสะดวกสบาย โดยเฉพาะเรื่องการใช้เสียง ปัจจุบันมีสตาร์ทอัพหลายรายที่ผ่านการพิจารณามาถึงขั้นทดสอบความเป็นไปได้ (Proof of Concept)

   ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 การดำเนินงานของบริษัทถือว่าประสบความสำเร็จและมีความคืบหน้าอย่างมากในหลายด้าน สำหรับในด้านการลงทุน (Investment) สตาร์ทอัพหลายรายที่บริษัทเข้าไปลงทุนในช่วงก่อนหน้านี้ มีผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพึงพอใจ อาทิ Semtive สตาร์ทอัพผู้พัฒนากังหันลมพลังงานไฟฟ้าสำหรับที่อยู่อาศัย ได้เริ่มทยอยส่งมอบกังหันลมสำหรับใช้ในครัวเรือนมาให้กับบริษัทแล้ว Neuron สตาร์ทอัพ e-Scooter สัญชาติสิงคโปร์ เริ่มมีให้บริการแล้ว ในโครงการดีคอนโด พิงค์ และขยายการให้บริการไปในพื้นที่พร้อมพงษ์-อ่อนนุช ตลอดจนในพื้นที่รอบตัวเมืองเชียงใหม่ OnionShack ได้พัฒนา “น้องแสนรู้” หุ่นยนต์พนักงานคนใหม่ของแสนสิริที่จะช่วยเข้ามาตอบเรื่องนวัตกรรมที่  The Cloud ชั้น 3 สยามพารากอน

   สำหรับด้านระบบนิเวศสตาร์ทอัพและพันธมิตร (Ecosystem& Partners) บริษัทได้สร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) มหาวิทยาลัยชั้นนำซึ่งถือเป็นแหล่งกำเนิดของสตาร์ทอัพสิงคโปร์ ด้วยการพาสตาร์ทอัพที่โดดเด่นของไทยไปร่วมโชว์เคสและขึ้นพูดบนเวทีระดับภูมิภาค ช่วยส่งเสริมระบบนิเวศสตาร์ทอัพของไทยด้าน PropTech           และ LivingTech ให้เข้าถึงโอกาสในระดับภูมิภาค พร้อมกันนี้ สิริ เวนเจอร์ส ยังเปิดโอกาสให้พนักงานแสนสิริก้าวสู่การเป็นสตาร์ทอัพและเจ้าของธุรกิจด้วยเงินทุนเริ่มต้นทำธุรกิจโดยให้การสนับสนุนทั้งด้านเวลา ทรัพยาการ การให้คำปรึกษาและเงินทุนเบื้องต้นกว่าหลายล้านบาทต่อทีม กับโครงการ THE FOUNDER

   ขณะที่ด้านการวิจัยและพัฒนา (Lab & Development) บริษัทยังคงตอกย้ำความมุ่งมั่นของแสนสิริในการมอบบริการภายใต้แนวคิด “บ้านที่ได้มากกว่าบ้าน” และการเติมเต็มไลฟ์สไตล์การอยู่อาศัยที่ครอบคลุมทุกมิติเพื่อตอบโจทย์ลูกบ้าน ผ่านฟังก์ชั่นใน Sansiri Home Service Application (HSA) เช่นHomestore แพลตฟอร์มออนไลน์แมกกาซีนที่ผู้อ่านสามารถซื้อสินค้าที่ชอบได้ การจับมือกับเครือสมิติเวช ขยายขอบเขตการให้บริการให้ครอบคลุมด้านสุขภาพแก่ลูกบ้านผ่าน HSA การเปิดให้บริการด้าน Payment เพื่อให้ลูกบ้านสามารถผ่อนดาวน์ตรงกับธนาคาร รวมไปถึงค่าส่วนกลาง​โดยเชื่อมต่อตรงกับแอพธนาคารดังไม่วาจะป็น KPlus และ SCB Easy การติดตั้งเซนเซอร์คุณภาพอากาศกว่า 60 พื้นที่ในโครงการทั่วประเทศ เพื่อบอกสภาพค่าฝุ่น ค่าความชื้นและข้อมูลเชิงลึก พร้อมให้คำแนะนำด้านสุขภาพตามสภาพอากาศแก่ลูกบ้าน ขณะเดียวกัน กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา Smart Meter เพื่อให้ลูกบ้านสามารถตรวจสอบสถานะการใช้น้ำประปาและไฟฟ้าของตัวเองได้ตลอดเวลา

   “เราเชื่อมั่นว่า พันธกิจหลักทั้ง 3 ด้านที่ สิริ เวนเจอร์ส ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จะเป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่วงการอสังหาริมทรัพย์ไทยให้ก้าวล้ำไปในทางที่ดี โดยเราจะยังคงทำงานร่วมกับแสนสิริอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาและผลักดันสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ในที่อยู่อาศัยจนสำเร็จใช้งานได้จริง ตลอดจนตอบสนองความต้องการของผู้อยู่อาศัยยุคใหม่และสังคมที่เปลี่ยนไป เติมเต็มประสบการณ์การอยู่อาศัยแห่งอนาคตให้แก่ลูกบ้านแสนสิริอย่างรอบด้าน” นายจิรพัฒน์ กล่าวสรุป

###