ไมโครซอฟท์ประกาศรองรับการใช้งานชื่ออีเมลภาษาไทย

ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ประกาศรองรับการใช้งานอีเมลภาษาไทยสำหรับบริการและแอปพลิเคชันอีเมล์ต่างๆ เช่น Office 365, Outlook 2016, Outlook.com, Exchange Online และ Exchange Online Protection (EOP)โดยผู้ใช้งานจะสามารถใช้ชื่ออีเมลเป็นภาษาไทยได้เป็นครั้งแรก สำหรับบัญชี Outlook บนพีซี เช่น สมชาย@อินโฟไทยแลนด์.คอม

   การประกาศรองรับการใช้งานครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายอย่างต่อเนื่องของไมโครซอฟท์ในการพัฒนาเพื่อรองรับอีเมลภาษาท้องถิ่น (Email Address Internationalization หรือ EAI)ในบริการและผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างทั่วถึง และทำให้เทคโนโลยีสามารถเข้าถึงได้ในภาษาท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถรับ-ส่งข้อมูลด้วยอีเมลในภาษาไทยได้อย่างไร้รอยต่อ ผ่านOutlook บนพีซี, outlook.comและแอปพลิเคชัน Outlook บนแอนดรอยด์และไอโอเอส

   “การทำให้เทคโนโลยีสามารถใช้งานได้ในภาษาที่ผู้คนคุ้นเคยทำให้ชาวไทยทุกคนได้รับประโยชน์และสามารถเข้าถึงการใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าวได้ และจะทำให้มั่นใจได้ว่าจะไม่มีใครคนใดคนหนึ่งถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เพราะเราได้ตัดความจำเป็นในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเป็นขั้นตอนแรกออกไป ซึ่งเป็นภาษาดั้งเดิมของเทคโนโลยี เราเชื่อว่าการลดอุปสรรคด้านภาษาเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในการสนับสนุนประเทศไทยให้ก้าวสู่อนาคตแห่งดิจิทัลอย่างแข็งแกร่งเพราะจะช่วยให้การติดต่อและประสานงานเป็นเรื่องง่ายยิ่งขึ้น และยังช่วยมอบพลังเทคโนโลยีให้กับชาวไทยทุกคน”นายโอมศิวะดิตถ์ผู้บริหารด้านนโยบายภาครัฐบริษัทไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว

   ผู้ใช้งานสามารถสมัครอีเมลเป็นภาษาไทยจากผู้ให้บริการการพัฒนารองรับอีเมลซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นกับพันธมิตรต่างๆ ภายนอกองค์กรได้ที่ทีเอชนิค https://thdomain.thnic.co.thผ่านขั้นตอนออนไลน์ได้อย่างง่ายดาย

   นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ยังได้ประกาศว่าทางบริษัทได้เพิ่ม Thai Sarabun Newซึ่งเป็นรูปแบบตัวอักษรประจำชาติไทยที่ถูกใช้งานโดยรัฐบาลและองค์กรภาคเอกชนต่างๆ ให้เป็นรูปแบบตัวอักษรมาตรฐานในแพลตฟอร์มWindows 10โดยเริ่มให้บริการแล้ววันนี้

การสร้างสรรค์เว็บไซต์ที่เข้าถึงคนทุกกลุ่มมากยิ่งขึ้น

   ข้อมูลจาก Internet Corporation for Assigned Names and Numbers (ICANN)ระบุว่าในปี 2557 ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมีจำนวนทั้งหมด 2.9 พันล้านคนทั่วโลกและจำนวนนี้ได้ถูกคาดการณ์ว่าจะเติบโตทะลุ 5 พันล้านคนภายในปี 2563 โดยผู้ใช้งานในอนาคตส่วนใหญ่จะมาจากประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักส่งผลให้พวกเขาจะต้องพบกับความยากลำบากในการใช้งานเว็บไซต์ถ้าหากว่ายังคงให้บริการเนื้อหาเป็นภาษาอังกฤษการผสานอีเมลในภาษาท้องถิ่นเข้ากับผลิตภัณฑ์ของไมโครซอฟท์ช่วยให้ประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์สามารถเข้าถึงคนทุกกลุ่มได้มากยิ่งขึ้น

   ไมโครซอฟท์ ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่ม Universal Acceptance Steering Group หรือ USAG ได้ทำงานอย่างเต็มที่เพื่อรองรับอีเมลในสคริปท์ยูนิโค้ดใดๆ ก็ตาม ผ่านแอปพลิเคชันและบริการต่างๆ ของทางบริษัท รวมถึงภาษาที่มีวิธีเขียนจากซ้ายไปขวาต่างๆ เช่น ภาษาอูรดูและภาษาอารบิก เป็นต้น